http://sagehouse.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

สินค้า

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

แนวข้อสอบO-netวิชาสังคมศึกษา

เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

ภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ

ปฎิทิน

« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930

สถิติ

เปิดเว็บ02/10/2010
อัพเดท19/10/2023
ผู้เข้าชม1,200,651
เปิดเพจ1,504,241
สินค้าทั้งหมด1

สินค้า

สินค้ามาใหม่
 สินค้าทั้งหมด
iGetWeb.com
AdsOne.com

หน่วยการเรียนรู้ที่1เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

หน่วยการเรียนรู้ที่1เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

หน่วยการเรียนรู้ที่  1   

หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

ชาญณรงค์  บัวแย้มแสง  เรียบเรียง

โรงเรียนโยธินบูรณะ

เรื่องที่ 1  ความหมาย  ความเป็นมาและความสำคัญของเศรษฐศาสตร์

1.1 นิยามความหมาย

วิชาเศรษฐศาสตร์  (Economics)  คือ  วิชาที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด  โดยมุ่งหมายให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

คำว่า  “เศรษฐศาสตร์” (Economics)  เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า  “Oikonomikos”    (Oikos  =  บ้าน  +  nomos  =  การดูแลจัดการ)  ซึ่งแปลว่าการบริหารจัดการของครัวเรือน  อย่างไรก็ตามคำว่า  “เศรษฐศาสตร์”  นั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งและมีขอบเขตกว้างกว่ารากศัพท์เดิมมาก 

          ถ้าพิจารณาคำว่าเศรษฐศาสตร์จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.2525  หมายถึง  วิชาว่าด้วยการผลิต  จำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆของชุมชน

 1.2 ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์

            แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว  นักปราชญ์สมัยโบราณพยายามสอดแทรกแนวความคิดและกฎเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์ปะปนอยู่ในหลักปรัชญา  ศาสนา  ศีลธรรมและหลักปกครอง  แต่ความคิดเหล่านี้ยังไม่ถือเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์  เช่น  แนวคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำของเพลโต (Plato)  แนวคิดเรื่องความมั่งคั่ง  ของอริสโตเติล (Aristotle)  เป็นต้น [1]

            ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษบุคคลแรกที่วางรากฐานวิชาเศรษฐศาสตร์  คือ อาดัม  สมิธ  (Adam  Smith)  ได้เขียนตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของโลก  ซึ่งมีชื่อค่อนข้างยาวว่า  “An  Inquiry  into  the  Nature  and  Causes  of  the  Wealth  of  Nations”  หรือเรียกสั้นๆว่า   “The  Wealth  Nations”  (ความมั่งคั่งแห่งชาติ)  ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1776 โดยเสนอความคิดว่า  รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศควรเข้าแทรกแซงการผลิตและการค้าให้น้อยที่สุด  โดยยินยอมให้เป็นภาระหน้าที่ของเอกชน  ทั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงแนวความคิดแบบเสรีนิยมหรือส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรี

จากหนังสือของอาดัม  สมิธ  ดังกล่าวถือเป็นตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญเล่มแรกของโลก  และตัวเขาได้รับการยกย่องให้เป็น  “บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์”  ในสมัยต่อมา

  อดัม สมิธ  บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์

            ทัศนะและข้อเขียนของอาดัม  สมิธ  ได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อวิชาเศรษฐศาสตร์  แต่ภายหลังแนวคิดเรื่องนโยบายเสรีนิยมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก  โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำขนานใหญ่ในช่วงปี  1930  ได้ส่งผลให้ความถือที่มีต่อความสามารถของกลไกตลาดลดลงมาก  ทั้งนี้เพราะเกิดการว่างงานอย่างมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน  โดยที่นโยบายเสรีนิยมไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

            กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19  เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยคาร์ล  มาร์กซ์ (Carl  Marx)  เป็นผู้ประกาศลัทธินี้  Das Kapital  เป็นหนังสือสำคัญของคาร์ล  มาร์กซ์  กล่าวถึงวิธีการขูดรีดของนายทุนจากกรรมกร  และแนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันและแบ่งผลประโยชน์อย่างเสมอภาค

    คาร์ล มาร์กซ์  บิดาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อัลเฟรด  มาร์แชล (Alfred  Marshall)  ได้เสนอทฤษฎีว่าด้วยการผลิต  (Theory  of  the  Firm)  ซึ่งต่อมากลายเป็นที่มาของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค 

         ในปี  1954  จอห์น  เมย์นาร์ด  เคนส์  (John  Maynard  Keynes)  ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีบทบาทอย่างมากทั้งในวงการวิชาการและกระบวนการกำหนดนโยบายของอังกฤษ  ได้เขียนหนังสือชื่อ  “The  General  Theory  of  Employment,  Interest  and  Money”  หรือเรียกสั้นๆว่า  “The  General  Theory”  เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ขัดแย้งกับเศรษฐศาสตร์รุ่นก่อนๆ  ในเรื่องกลไกตลาด  ที่ไม่สามารถทำงานได้ดีพอสำหรับการแก้ไขปัญหาการว่างงานและปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้น  ดังนั้น  รัฐจึงควรถือเป็นหน้าที่ที่ต้องแทรกแซง  เพื่อการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นและลดการว่างงานลง  โดยรัฐอาจสร้างงานให้ประชาชน  เช่น  การสร้างถนน  สร้างเขื่อน  หรือสร้างสถานที่ทำงานของรัฐ  เป็นต้น 

  จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค

          การเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซง  เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานและเศรษฐกิจตกต่ำนั้นได้รับการยอมรับมาก  และเคนส์จึงได้รับการยกย่องให้เป็น  บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค  ในเวลาต่อมากลุ่มนักธุรกิจเริ่มวิตกกังวลว่า  ถ้าบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจขยายกว้างมากขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

          จะเห็นได้ว่าแนวคิดของอาดัม  สมิธ ที่ว่ารัฐควรลดบทบาทหรือลดการแทรกแซงทางเศรษฐกิจลง  แต่ความคิดของเคนส์กลับเห็นว่า  รัฐควรมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น  ซึ่งปรัชญาทางความคิดของทั้งสองต่างกันแต่ก็มีเหตุผลและมีความสำคัญอย่างทัดเทียมกัน 

1.3 ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย

          คนไทยรุ่นบุกเบิกที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์จากต่างประเทศเท่าที่มีการกล่าวถึงในเอกสารมีเพียงไม่กี่ท่าน  ท่านหนึ่งคือ  กรมหมื่นสรรค์วิไสยนรบดีฯ  (พระนามเดิมพระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์)  พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงศึกษาสำเร็จปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี  ในปี  พ.ศ.2450  ทรงเขียนวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเกษตรของไทย  ท่านทรงรับราชการเพียง  5  ปี  ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุเพียง  28  พรรษา [2]

          บุคคลสำคัญในกลุ่มบุกเบิกการเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยคือ พระยาสุริยานุวัตร ซึ่งเคยดำรงดำแหน่งที่สำคัญคือ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ   ท่านเป็นผู้เรียบเรียงและพิมพ์ตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย 

   พระยาสุริยานุวัตร(เกิด บุนนาค)


 ชื่อ  “ทรัพย์ศาสตร์” ในปี พ.ศ.2454 ต่อมาดร.ทองเปลว  ชลภูมิ  ผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ขออนุญาตจากท่านนำหนังสือดังกล่าวมาจัดพิมพ์ใหม่และให้ชื่อว่า  “เศรษฐศาสตร์ภาคต้น”  เล่ม  1  และเล่ม  2  เพื่อใช้เป็นตำราเรียน

     

          ใน  พ.ศ.2459  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  ทรงเขียนและจัดพิมพ์หนังสือชื่อ  “ตลาดเงินตรา”  (Money  Market)  ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าตลาดเงิน  ส่วนคำว่า  “เงินตรา”  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า  Currency 

          จนกระทั่ง  พ.ศ.2473 โรงเรียนกฎหมายซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ.2440 โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาและต่อมาในปี  พ.ศ.2477 โรงเรียนกฎหมายได้รับการสถาปนาเป็น  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ระยะแรกเปิดสอนระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์เพียงสาขาเดียว  ได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต  ใช้อักษรย่อ  ธ.บ.  หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตมีเศรษฐศาสตร์อยู่   2  วิชา  คือ  “เศรษฐศาสตร์”  และ “ลัทธิเศรษฐกิจ”   ต่อมาสอนสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก 

ในการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระยะแรกยังไม่มีผู้สอนที่จบเศรษฐศาสตร์โดยตรงอาศัยผู้สอนที่จบการศึกษาด้านกฎหมายจากฝรั่งเศส  เวลานั้นอาจารย์ป๋วย       อึ๊งภากรณ์  ทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสอยู่ในหมาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้สอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ  ในปี  พ.ศ.  2481  มหาวิทยาลัยจึงขอให้ท่านศึกษาด้านวิชาเศรษฐศาสตร์         ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี  ในปี  พ.ศ.2484  ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยคะแนนสูงสุดของรุ่น  และได้รับทุนเพื่อศึกษาต่อถึงระดับปริญญาเอก

       ต่อมาใน พ.ศ.2492  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยกเลิกระบบการสอนแบบธรรมศาสตรบัณฑิต  เปลี่ยนโครงสร้างโดยแยกเป็นคณะต่างๆ  ได้ประกาศจัดตั้ง  4  คณะ  ได้แก่  คณะนิติศาสตร์  คณะรัฐศาสตร์  คณะเศรษฐศาสตร์  และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี    คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือเป็นคณะเศรษฐศาสตร์คณะแรกของไทย  โดยมี  ดร.เดือน  บุนนาค  เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์คนแรก  ใน  พ.ศ. 2507  ดร.ป๋วย  อึ๊งภากร  ได้มาดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ปัจจุบันการศึกษาวิเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยได้ขยายกว้างอย่างมากมีการจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์หรือภาควิชาเศรษฐศาสตร์ในสถาบันระดับอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมากกว่า  15  แห่ง  และผลิตบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์กว่า  3,000  คน  ต่อปี

 

เรื่องที่  2  แขนงของวิชาเศรษฐศาสตร์

          การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์  จำแนกตามเนื้อหาได้  2  สาขา  คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค  (Microeconomics)และเศรษฐศาสตร์มหภาค(Macroeconomics) [3]

                     1)  เศรษฐศาสตร์จุลภาค  (Microeconomics)  เป็นแขนงของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาถึงปัญหาและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของสังคมในระดับหน่วยย่อยเป็นสำคัญ  มุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ดำเนินกิจกรรมต่างๆในระบบเศรษฐกิจ  ด้านพฤติกรรมของตลาดและกลไกราคา  บางครั้งเรียกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคว่า  ทฤษฎีราคา (Price Theory)

                     2)  เศรษฐศาสตร์มหภาค  (Macroeconomics) เน้นศึกษาเรื่องราวหรือ  กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหรือระดับประเทศ  เช่น  การบริหารงบประมาณแผ่นดินประจำปี  ปัญหาเงินเฟ้อ  และรายได้ประชาชาติ  เป็นต้น  บางครั้งเรียกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคว่า   ทฤษฎีรายได้ประชาชาติ

            ในปัจจุบันนี้  นักวิชาการนิยมศึกษาเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาคควบคู่กันไป  จะเห็นได้ว่ามีการนำผลวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคมากขึ้น  ก็เพราะเศรษฐกิจส่วนรวม ย่อมมีองค์ประกอบที่เป็นเศรษฐกิจหน่วยย่อยๆรวมกัน    และพฤติกรรมของแต่ละบุคคลหรือแต่ละหน่วยผลิตซึ่งเป็นเศรษฐกิจหน่วยย่อยๆ  เพราะเศรษฐกิจหน่วยย่อยนี้ก็มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมและความเป็นไปของเศรษฐกิจในระดับประเทศหรือระดับส่วนรวมของสังคม

  เรื่องที่  3  หน่วยเศรษฐกิจและปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ     

 3.1 หน่วยเศรษฐกิจ

            ผู้มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจคือผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหน่วยเศรษฐกิจ  ได้แก่

                   1.  หน่วยครัวเรือน  (Household)  มีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเบื้องต้น  เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค  ครัวเรือนเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมการผลิตและการบริโภค  โดยผลิตสิ่งที่สมาชิกของครอบครัวมีความจำเป็นและมีความต้องการที่จะบริโภค 

                   2.  หน่วยธุรกิจ (Firm)   คือ  บุคคลหรือองค์การที่มีบทบาทในการผลิตและบริการสินค้า  เพื่อแสวงหาผลกำไรและสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้คนในสังคม  เช่น  บริษัทห้างร้านต่างๆ 

                   3.  รัฐบาล  (Government Agency)  มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ  โดยมุ่งประโยชน์แก่ประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก

 3.2 ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรหรือปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ คือจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร (WHAT, HOW, FOR WHOM)

จะผลิตอะไร : ควรผลิตสินค้า-บริการอะไร ในปริมาณเท่าใด  (what to produce)

     เนื่องจากทรัพยากรทางเศรษฐกิจของโลกมีจำกัดและไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของมนุษย์ได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไรบ้าง ผลิตในจำนวนเท่าใด ลำดับของการผลิตควรเป็นอย่างไร อะไรควรผลิตก่อน อะไรควรผลิตหลัง เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ไม่พอเพียงกับความต้องการ เราจึงควรเลือกผลิตสินค้า และบริการซึ่งเป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นมากที่สุดก่อนเป็นลำดับแรก และผลิตตามความต้องการ ลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาได้นั้นสามารถนำไปใช้ตอบสนองความ ต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่ผลิตตามความต้องการแล้วสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมา ได้ก็จะเกิดการสูญเปล่าเนื่องจากไม่ได้ถูกนำไปใช้ ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์

จะผลิตอย่างไร : โดยใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  (how to produce)

         เมื่อทราบแล้วว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าใด ปัญหาต่อมาก็คือจะเลือกใช้เทคนิคการผลิตอย่างไรจึงจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด โดยให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการคำว่า ประสิทธิภาพ (ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด) หมายถึง ผลิตสินค้าและบริการให้ได้จำนวนหน่วยของผลผลิตตามที่ต้องการ โดยใช้ทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตให้น้อยที่สุด ผลิตสินค้าและบริการให้ได้จำนวนหน่วยของผลผลิตมากที่สุด ภายใต้ต้นทุนการผลิต จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังกล่าวจะถือว่าเป็นการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

จะผลิตเพื่อใคร : จะกระจายสินค้าบริการไปให้ใคร  (for whom to produce)

               ปัญหาสุดท้ายคือ สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้น มาได้แล้วนั้นจะจำหน่ายจ่ายแจกหรือกระจายไปยังบุคคลต่างๆในสังคมอย่างไร (ให้แก่ใคร จำนวนเท่าใด) จึงจะเหมาะสมและเกิดความยุติธรรม เพื่อแต่ละบุคคลจะได้ประโยชน์สูงสุดจากสินค้าและบริการนั้น

 เรื่องที่  4  ระบบเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน

         คำว่า เศรษฐกิจ (economy) เป็นเรื่องของความพยายามในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (economic activities) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการผลิต (production) การบริโภค (consumption) หรือ การจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการ (distribution) ทั้งนี้เพราะทุกสังคมในโลกต่างประสบกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจร่วมกัน นั่นคือความไม่สมดุลระหว่างทรัพยากรที่จะใช้ในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งมีอยู่จำกัดกับความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีอยู่ไม่จำกัด

       สังคมจึงต้องหาวิธีการที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ในทางที่ประหยัดที่สุดและสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มบุคคลต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สังคมหนึ่งๆย่อมประกอบด้วยหน่วยเศรษฐกิจต่างๆมากมายรวมตัวกันขึ้นเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจ (economic institution) และเนื่องจากแต่ละสังคมมีการปกครอง จารีตประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์และนโยบายที่เป็นแบบแผนให้สถาบันทางเศรษฐกิจถือเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ระบบเศรษฐกิจ (economic system) หมายถึง กลุ่มบุคคลของสังคมที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มของสถาบันทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น สถาบันการผลิต สถาบันการเงินการธนาคาร สถาบันการค้า สถาบันการขนส่ง สถาบันการประกันภัย ฯลฯ ซึ่งยึดถือแนวปฏิบัติแนวทางเดียวกันในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคืออำนวยความสะดวกในการที่จะแก้ไขปัญหาพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถบำบัดความต้องการให้แก่บุคคลต่างๆที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้นให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ระบบเศรษฐกิจทำหน้าที่แก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 3 ประการ คือ

ตัดสินใจว่า จะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรบ้าง และควรผลิตในจำนวนเท่าใด

ตัดสินใจว่าในการผลิตสินค้าหรือบริการเหล่านั้นควรจะใช้วิธีการผลิตอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด และมีต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด

ตัดสินใจว่า จะจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมานั้นไปยังบุคคลกลุ่มต่างๆ ในสังคมอย่างไร จึงจะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเป็นธรรมมากที่สุด

ระบบเศรษฐกิจใดที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนย่อมเท่ากับว่าประเทศหรือสังคมนั้นจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนของประเทศที่มีอยู่ไม่จำกัดได้อย่างทั่วถึงช่วยให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี  ประเทศชาติย่อมพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลกจะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจของผู้บริหารในแต่ละประเทศ ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่ๆดังนี้

 

1)  ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม (Laissez-Faire or Capitalism)

ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้เสรีภาพแก่ภาคเอกชนในการเลือกดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เศรษฐทรัพย์ต่างๆที่ตนหามาได้  มีเสรีภาพในการประกอบธุรกิจ  รวมทั้งการเลือกอุปโภคบริโภคสินค้า และบริการต่างๆ แต่ทว่าเสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กล่าวคือการดำเนินการใดๆจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลอื่น ใช้ระบบของการแข่งขันโดยมีราคาและระบบตลาดเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากร โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมีหน้าที่เพียงการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการป้องกันประเทศ

 ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

เอกชนมีเสรีภาพในการเลือกตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามที่ตนถนัด กำไรและการมีระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นแรงจูงใจทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ เอกชนจะทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากผลิตได้มากน้อยเท่าไรก็จะได้รับผล ตอบแทนหรือรายได้ไปเท่านั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจระบบนี้จะมีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์หรือเทคนิคใหม่ๆอยู่เสมอทำให้เกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเนื่องจากความสามารถที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลโดยพื้นฐาน ทำให้ความสามารถในการหารายได้ไม่เท่ากัน ผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าจะเป็นผู้ได้เปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่าในทางเศรษฐกิจ

ในหลายๆกรณี ราคาหรือกลไกตลาดยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สินค้าและบริการที่มีลักษณะของการผูกขาดโดยธรรมชาติหรือสินค้าและบริการสาธารณะ ซึ่งได้แก่ บริการด้านสาธารณูปโภค (น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ฯลฯ) โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน เขื่อน สะพาน ฯลฯ) จะเห็นได้ว่าสินค้าและบริการดังกล่าวส่วนใหญ่จะต้องใช้เงินลงทุนมาก เทคโนโลยีที่ทันสมัย เสี่ยงกับการขาดทุนเนื่องจากมีระยะการคืนทุนนาน ไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ทำให้เอกชนไม่ค่อยกล้าลงทุนที่จะผลิต ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการแทน อันเนื่องจากสินค้าและบริการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องการ จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวราคาไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรได้

การใช้ระบบการแข่งขันหรือกลไกราคาอาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่าง สิ้นเปลือง เช่น ในบางช่วงที่มีการแข่งขันกันสร้างศูนย์การค้าเพราะคิดว่าเป็นกิจการที่ให้ผลตอบแทนหรือกำไรดี ศูนย์การค้าเหล่านี้เมื่อสร้างขึ้นมามากเกินไปก็อาจไม่มีผู้ซื้อมากพอ ทำให้ประสบกับการขาดทุน กิจการต้องล้มเลิก เสียทุนที่ใช้ไปในกิจการนั้น เป็นการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปอย่างเปล่าประโยชน์และไม่คุ้มค่า เป็นต้น

2)  ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)

ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์รัฐบาลเป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งปัจจัยการผลิตทุกชนิด เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ ตลอดจนเสรีภาพที่จะเลือกใช้ ปัจจัยการผลิตได้ รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการและทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรต่างๆ หน่วยธุรกิจและครัวเรือน จะผลิตและบริโภคตามคำสั่งของรัฐ กลไกราคาไม่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจกระทำโดยรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจว่าทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ควรจะนำมาผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร การตัดสินใจ มักจะทำอยู่ในรูปของการวางแผนแบบบังคับจากส่วนกลาง (central planning) โดยคำนึงถึงสวัสดิการ ของสังคมส่วนรวมเป็นสำคัญโดยสรุประบบเศรษฐกิจแบบนี้จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลางรัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนแต่เพียงผู้เดียวเอกชนมีหน้าที่เพียงแต่ทำตามคำสั่งของทางการ เท่านั้น

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์

จุดเด่นของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ก็คือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะและรายได้ของบุคคลในสังคม ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนจะทำการผลิตและ บริโภคตามคำสั่งของรัฐ ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาจะถูกนำส่งเข้าส่วนกลาง และรัฐจะเป็นผู้จัดสรรหรือแบ่งปัน สินค้าและบริการดังกล่าวให้ประชาชนแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์

ประชาชนไม่มีเสรีภาพที่จะผลิตหรือบริโภคอะไรได้ตามใจ ถูกบังคับหรือสั่งการจากรัฐ

สินค้ามีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ผลิตขาดแรงจูงใจ เพราะไม่ว่าจะผลิตสินค้าได้ มากน้อยเพียงใด คุณภาพเป็นอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกจะต้องบริโภคตามการปันส่วนที่รัฐจัดให้

การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถที่จะมีข่าวสารสมบูรณ์ในทุกๆเรื่อง เช่น รัฐไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทำให้ผลิต สินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการ ส่งผลให้มีสินค้าเหลือ (ไม่เป็นที่ต้องการ) จะเห็นได้ว่าลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรของประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น

3)  ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism)

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจ แบบคอมมิวนิสต์ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมรัฐจะเป็นผู้ครอบครองทรัพยากรการผลิตพื้นฐาน ไว้เกือบทั้งหมด และเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน กิจการหลักที่มี ความสำคัญต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ เช่น ธุรกิจธนาคาร อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ป่าไม้ น้ำมัน กิจการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ฯลฯ รัฐจะเป็นผู้เข้ามาดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม รัฐยังให้เสรีภาพแก่ประชาชนบ้างพอสมควร เอกชนมีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สิน เช่น สามารถทำธุรกิจค้าขายขนาดย่อมระหว่างท้องถิ่นใกล้เคียง สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน เพื่อการยังชีพ โดยสรุป ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยกลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ แต่ทว่ากลไกราคาพอจะมีบทบาทอยู่บ้างในระบบเศรษฐกิจนี้

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีส่วนช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทาง ฐานะและรายได้ของบุคคลเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ นอกจากนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้เอกชนมีเสรีภาพและมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินบ้างพอสมควร

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เนื่องจากปัจจัยการผลิตพื้นฐานอยู่ในการควบคุมของ รัฐบาลทำให้ขาดความคล่องตัว การผลิตถูกจำกัดเพราะต้องผลิตตามที่รัฐกำหนด โอกาสที่จะขยายการผลิตหรือพัฒนาคุณภาพการผลิตเป็นไปค่อนข้างลำบาก ทำให้การใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ในลักษณะเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์

 4)  ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)

ระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม กับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม กล่าวคือ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตมีทั้งส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน ในส่วนที่เป็นแบบทุนนิยม คือ เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่าง มีเสรีภาพในการเลือกผลิตหรือบริโภค ใช้ระบบของการแข่งขัน กลไกราคาเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ส่วนที่เป็นแบบสังคมนิยม คือ รัฐบาลเข้ามาควบคุมหรือเข้ามาดำเนินกิจการที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น กิจการสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องมีการลงทุนมากเพราะหาเอกชนลงทุนได้ยาก เนื่องจากเป็นกิจการที่ต้อง เสี่ยงกับการขาดทุนหรือไม่คุ้มกับการลงทุน แต่กิจการเหล่านี้จำเป็นต้องมีเพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีพ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่ง และคมนาคม เหตุที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการในกิจการดังกล่าวก็เพื่อขจัดปัญหาในเรื่องการผูกขาดหรือเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นถ้าปล่อยให้เอกชนทำการแข่งขัน โดยสรุปแล้วระบบเศรษฐกิจแบบผสมจึงเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ทั้งระบบกลไกราคา หรือระบบตลาดควบคู่ไปกับระบบกลไกรัฐในการจัดสรรทรัพยากร

ข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบผสม

เป็นระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีความคล่องตัว กล่าวคือมีการใช้กลไกรัฐร่วมกับกลไกราคาในการจัดสรรทรัพยากรของระบบ กิจการใดที่กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐก็จะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (ใช้ระบบของการแข่งขัน) แต่ถ้ากิจการใดที่กลไกราคาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐก็จะเข้ามาดำเนินการแทนจะเห็นได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบผสมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสาน กล่าวคือ รวมข้อดีของทั้งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน

ข้อเสียของระบบเศรษฐกิจแบบผสม

การมีกำไรและระบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ และรายได้เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

การที่รัฐสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยใช้กลไกรัฐอาจก่อให้เกิดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ปัญหาเอกชนไม่กล้าลงทุนอย่างเต็มที่เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมือง และนโยบายของรัฐบาลซึ่งมีความผันผวนและแปรเปลี่ยนได้ง่าย อาจทำให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง



[1] ทับทิม  วงศ์ประยูรและคณะ.เศรษฐศาสตร์จุลภาค 1.พิมพ์ครั้งที่ 4 .กรุงเทพฯ : สยามการพิมพ์,2541.

[2] วันรักษ์  มิ่งมณีนาคิน.เศรษฐศาสตร์ไม่ยากอย่างที่คิด.พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2547.

[3] เศรษฐศาสตร์จุลภาค  (Microeconomics) อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จุลเศรษฐศาสตร์  และเศรษฐศาสตร์มหภาค(Macroeconomics) อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหเศรษฐศาสตร์ 

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view