ชาญณรงค์ บัวแย้มแสง โรงเรียนโยธินบูรณะ
เรียบเรียง
หน่วยการเรียนรู้ที่ 5
การเงิน การคลังและนโยบายแก้ไขและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เรื่องที่ 1 การเงินและสถาบันทางการเงิน
1.1 การเงิน
1.1.1 ความหมายของเงิน
เงิน คือ สิ่งที่ทุกคนในสังคมยอมรับกันในขณะนั้นให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และใช้วัดมูลค่าของสินค้าและบริการทุกชนิด
1.1.2 วิวัฒนาการการแลกเปลี่ยน
มนุษย์รู้จักการแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในระยะแรกๆการแลกเปลี่ยนไม่สลับซับซ้อนมากนัก คือการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของกันก่อน ต่อมาจึงมีการแลกเปลี่ยนโดยใช้วัตถุเป็นสื่อกลาง จนกระทั่งรู้จักใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นปัจจุบัน วิวัฒนาการเงินตราซึ่งอาจแยกออกเป็น ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช้เงินตรา กับระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตรา
1) ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช้เงินตรา หรือการแลกเปลี่ยนโดยตรง (Barter System)
เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ เป็นระบบเศรษฐกิจในสมัยโบราณ เมื่อต้องการสินค้าก็จะนำสินค้าที่ตนหามาได้นั้นไปแลกกับสิ่งที่ตนต้องการ เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ ในการแลกเปลี่ยนระบบนี้มีข้อยุ่งยากและไม่สะดวกอยู่หลายประการ คือ
1.1) ความต้องการมักไม่ตรงกัน การแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความต้องการตรงกัน และจะต้องมีความต้องการตรงกันทั้งจำนวนและชนิดของสิ่งของที่จะนำมาแลกกัน มิฉะนั้นก็จะแลกกันหรือตกลงกันไม่ได้
1.2) ขาดมาตรฐานในการวัดมูลค่า การแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของนั้นไม่มีมาตรฐานในการแลกเปลี่ยน เช่น ผ้าสักกี่ผืนจึงจะแลกวัวได้ 1 ตัว หรือข้าวสารกี่ถังจึงจะแลกวัวได้ 1 ตัว ต่างฝ่ายก็ต้องการได้สิ่งของจำนวนมาก
1.3) ยุ่งยากในการเก็บรักษา การเก็บรักษาสิ่งของมีข้อยุ่งยากมาก เช่น เปลืองเนื้อที่ และของบางอย่างอาจเสื่อมคุณภาพหรือเน่าเสียได้ง่าน
2) ระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตรา หรือการใช้เงินเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (Exchange System with money) วิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตรา มีลำดับความเป็นมาดังนี้
2.1) เงินที่เป็นสิ่งของหรือสินค้า เกิดขึ้นเนื่องจากระบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของโดยตรงมีข้อยุ่งยากอยู่หลายประการ มนุษย์จึงเกิดความคิดที่จะใช้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งใครๆก็อยากได้ และยินดีให้แลกกับสิ่งของที่เขามีอยู่ เช่น ผ้าขนสัตว์ ลูกปัด เปลือกหอย เป็นต้น
2.2) เงินกษาปณ์ เมื่อมนุษย์ค้นพบแร่ เช่น เหล็ก ทองแดง ดีบุก ซึ่งเป็นของที่เหมาะสมแก่การใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพราะมีความคงทน ไม่เน่าเปื่อยง่าย แต่เดิมมนุษย์ใช้ตามสภาพเดิมของโลหะ ยังไม่รู้จักหลอมทำรูปร่างเหมือนปัจจุบัน ทำให้ไม่สะดวกแก่การแลกเปลี่ยนเพราะต้องคอยตรวจสอบน้ำหนักและเลือกดูว่าเนื้อโลหะแท้หรือไม่แท้ บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เพียงใด ต่อมาจึงมีการรับรองน้ำหนักและรับรองความบริสุทธิ์โดยประทับตราทำเครื่องหมายรับรองไว้เป็นสำคัญ จึงเรียกว่าเงินตรา เงินตราที่ทำด้วยโลหะต่างๆเรียกว่าเงินกษาปณ์หรือเหรียญกษาปณ์
2.3) เงินกระดาษ เมื่อการติดต่อค้าขายขยายตัวมากขึ้นการชำระเงินโดยใช้เหรียญกษาปณ์คราวละจำนวนมากๆจึงเป็นเรื่องไม่สะดวกเพราะทั้งมีน้ำหนักมากและเปลืองเนื้อที่ มนุษย์จึงคิดทำเงินกระดาษขึ้นใช้แทนเหรียญกษาปณ์ ซึ่งเรียกว่าธรบัตร เงินกระดาษนี้ชาติจีนเป็นชนชาติแรกที่เริ่มใช้ ต่อมาชาวอาหรับนำเข้าไปใช้ในยุโรปจนเป็นที่นิยมแพร่หลายควบคู่กับเหรียญกษาปณ์
2.4) เช็คเงินฝาก เป็นเงินที่เกิดขึ้นในสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ระบบธนาคารได้แพร่หลายขึ้นแล้ว ผู้ชำระหนี้โดยใช้เช็คจะต้องฝากเงินในระบบธนาคารซึ่งต้องเป็นเงินฝากประเภทกระแสรายวัน
1.1.3 ประเภทของเงิน
1) เงินปฐมภูมิ (เงินผลิตภัณฑ์) : เงินที่มีมูลค่าในตัวเอง คือ เงินที่ทำหน้าที่เหมือนสินค้าทั่วๆไปด้วย เช่น หนังสัตว์ แร่ธาตุต่างๆ
2) เงินทุติยภูมิ (เงินที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์) : เงินที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้นไม่มีมูลค่าในตัวเอง
ปัจจุบัน เงินแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ เหรียญกษาปณ์ ธนบัตร และเงินฝากกระแสรายวัน (เช็ค) ซึ่งทั้งหมดจัดเป็นเงินทุติยภูมิ
1.1.4 ลักษณะของเงินที่ดี
1) เป็นของที่หายาก เนื่องจากเงินเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เงินมักเป็นสิ่งของหรือโลหะที่หายาก หรือมาหล่อหลอมประดับก็จะมีค่าในตัวของมันเอง
2) เป็นของที่ดูออกง่าย สามารถดูแล้วรู้ว่าเป็นเงินปลอมหรือเงินจริง
3) เป็นของที่มีมูลค่าคงตัว คือมีมูลค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับสิ่งของชนิดอื่น
4) เป็นของที่แบ่งออกเป็นส่วนย่อยได้ สามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อยได้โดยที่มูลค่าของส่วนที่แบ่งย่อยนั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลง
5) เป็นของที่ขนย้ายสะดวก เพราะเงินเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องพกพาเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนจึงควรมีขนาดเล็กและเบาเพื่อสะดวกในการพกพา
6) เป็นสิ่งที่คงทนถาวร เงินควรมีความคงทนไม่แตกหักง่ายเก็บไว้นานเพียงใดก็ไม่เป็นสนิมหรือเน่าเปื่อยผุพัง
1.1.5 หน้าที่ของเงิน
1) เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange)
เงินจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้ทุกคนมีเสรีภาพในการเลือก เพราะการมีเงินทำให้เกิดอำนาจซื้อ ที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อหาสินค้าและบริการในเวลาใดหรือจากผู้ใดก็ได้
2) เงินเป็นมาตรฐานในการเทียบค่า (Standard of Value)
สมัยที่มนุษย์ใช้ใช้ระบบแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของ มนุษย์ต้องยุ่งยากอยู่มาก เช่น นำข้าวสาร 1 ถัง ไปแลกวัวได้เพียง 1 ขา และเจ้าของวัวก็จะไม่ยอมแลกเพราะต้องตัดขาวัววัวก็จะตาย เนื่องจากระบบนี้ไม่มีมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนที่แน่นอนจึงกำหนดตามความพอใจของตนเอง เมื่อมนุษย์นำเงินมาใช้ทำหน้าที่เป็นมาตรฐานในการเทียบค่า ทำให้การซื้อขายสะดวกมีมาตรฐานที่แน่นอน ที่เรียกว่าราคา
3) เงินเป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ภายหน้า (Standard of Deferred Payments)
ในการค้าขายหรือประกอบธุรกิจต่างๆ อาจมีการผัดเวลาในการระชำระเงินจากปัจจุบันไปเป็นอนาคต เงินจะเป็นสัญญาในการชำระหนี้ภายหน้าได้ดีแต่ลูกหนี้จะต้องเสียค่าดอกเบี้ยรวมไปด้วย
4) เงินเป็นเครื่องรักษามูลค่า (Store of Value)
หากเมื่อเราเก็บหรือออมเงิน เงินจะทำหน้าที่เป็นเครื่องรักษามูลค่าคือมีมูลค่าคงตัวอยู่เสมอ แต่ถ้าเก็บทรัพย์สินในรูปของเมล็ดพืช เกลือ หนังสัตว์ มูลค่าของทรัพย์สินอาจเปลี่ยนแปลงขึ้นลง หรือบางชนิดอาจเน่าเสียได้
1.1.6 ปริมาณเงิน
ปริมาณเงิน คือ จำนวนเงินที่ที่พร้อมที่จะใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการและชำระหนี้ตามความต้องการได้ทันที โดยทั่วไปจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1) ปริมาณเงินตามความหมายอย่างแคบ เป็นปริมาณเงินที่ประชาชนถือไว้เพื่อเป็นสื่อในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ประกอบด้วย
1.1) ธนบัตรที่ถือโดยประชาชน
1.2) เหรียญกษาปณ์ที่ถือโดยประชาชน
1.3) เงินฝากกระแสรายวันที่ถือโดยประชาชน
2) ปริมาณเงินตามความหมายอย่างกว้าง เป็นปริมาณเงินที่ประชาชนถือไว้เพื่อเป็นสื่อในการซื้อขายแลกเปลี่ยน รวมทั้งเงินที่ถือไว้เป็นเครื่องสะสมค่าและเพื่อหาผลตอบแทน ประกอบด้วย
2.1) ธนบัตรที่ถือโดยประชาชน
2.2) เหรียญกษาปณ์ที่ถือโดยประชาชน
2.3) เงินฝากกระแสรายวันที่ถือโดยประชาชน
2.4) เงินฝากออมทรัพย์ที่ถือโดยประชาชน
2.5) เงินฝากประจำที่ถือโดยประชาชน
1.1.7 มูลค่าของเงิน
มูลค่าของเงินมี 2 กรณีคือ
1) ค่าภายนอกของเงิน คือราคาของเงินตราสกุลหนึ่ง เมื่อคิดเป็นเงินตราของสกลุต่างๆ ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เช่น เงิน 1 ดอลลาร์ มีค่าเทียบกับเงินบาทของไทย เท่ากับ 36 บาท เป็นต้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงเป็นเหมือนราคาสินค้าชนิดหนึ่ง มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของเงิน เรียกโดยทั่วไปว่า เงินแข็งค่า มูลค่าที่ลดลงของเงิน เรียกโดยทั่วไปว่า เงินอ่อนค่า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของเงินเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นเกิดจากอุปสงค์ของตลาดเงิน เช่น หากตลาดเงินมีความต้องการซื้อเงินบาทมากมีผลทำให้ค่าของเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
2) ค่าภายในของเงิน คือความสามารถหรืออำนาจซื้อ ที่เงินแต่ละหน่วยจะซื้อสินค้าและบริการได้ เช่น หากซื้อข้าวสาร 1 ถัง ราคา 160 บาท ต่อมา หากซื้อข้าว 1 ถัง ชนิดเดียวกันราคา 180 บาท ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ราคาข้าวอาจสูงขึ้น หรือค่าภายในของเงินลดลง
1.1.8 อำนาจซื้อ
อำนาจซื้อ คือ ความสามารถของเงิน 1 หน่วย ที่จะสามารถซื้อสินค้า และบริการได้มากน้อยเพียงใด จำนวนสินค้าและบริการที่เงินหนึ่งหน่วยสามารถแลกมานั้น คือ ค่าของเงินหรืออำนาจซื้อของเงินนั่นเอง เครื่องมือที่ใช้วัดความเปลี่ยนแปลงอำนาจซื้อของเงินคือระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไป หากปรากฏว่าระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้น อำนาจซื้อของเงินที่แท้จริงก็ลดลง เช่น เงิน 10 บาท ซื้อข้าวได้ 1 จาน แต่ปัจจุบันต้องใช้เงินถึง 20 บาท จึงจะซื้อข้าวได้ 1 จาน ในทางกลับกันระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลง อำนาจซื้อของเงินที่แท้จริงก็สูงขึ้น เป็นต้น
1.1.9 สภาพคล่อง
สภาพคล่อง หมายถึง คุณสมบัติหรือทรัพย์สินที่จะเปลี่ยนเป็นสิ่งของหรือบริการอย่างอื่นได้ง่าย และไม่เสียหายหรือเสียหายน้อย เงิน จึงเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องมากที่สุด ก็เพราะเงินสามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการได้ทันที
1.2 สถาบันทางการเงิน
1.2.1 ความหมายของสถาบันทางการเงิน
สถาบันทางการเงิน หมายถึง หน่วยงานที่ทำหน้าที่ระดมเงินออมและให้กู้ยืมแก่ผู้ที่ต้องการเงินไปเพื่อการบริโภค หรือเพื่อการดำเนินทางธุรกิจ
1.2.2 ความเป็นมาของสถาบันทางการเงินในประเทศไทย
สถาบันการเงินประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อไทยทำการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวอังกฤษได้เข้ามาตั้งธนาคารฮ่องกงและเซี้ยงไฮ้ เมื่อพ.ศ.2431 ธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นระยะแรกๆล้วนเป็นของชาวต่างประเทศทั้งสิ้น ใน พ.ศ. 2449 จึงมีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ของไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อ แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด เมื่อ พ.ศ.2482
1.2.3 ประเภทของสถาบันทางการเงิน
สถาบันทางการเงินแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1) สถาบันการเงินที่ประกอบกิจการธนาคาร
1.1) ธนาคารกลาง
1.2) ธนาคารพาณิชย์
1.3) ธนาคารเฉพาะ
2) สถาบันการเงินที่ไม่ประกอบกิจการธนาคาร
1.2.4 ธนาคารกลาง (Central Bank)
ธนาคารกลางทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางและจัดระบบทางการเงินของประเทศ อำนวยประโยชน์แก่เศรษฐกิจส่วนรวม ปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกส่วนใหญ่มีธนาคารกลางเป็นของตนเอง ธนาคารกลางของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยส่วนใหญ่มีแบบอย่างมาจาก ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (Bang of
ธนาคารกลางของประเทศไทยเริ่มดำเนินการ เมื่อ พ.ศ.2483 ชื่อธนาคารชาติไทย ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2485 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bang of Thailand หรือเรียกย่อๆว่า BOT) ช่วงแรกได้เช่าธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ถนนสี่พระยา เป็นที่ทำการชั่วคราวจนถึง พ.ศ.2488 จึงย้ายไปที่วังบางขุนพรหม ต่อมาได้สร้างอาคารสำนักงานขึ้นใหม่ในบริเวณวังบางขุนพรหม เปิดใช้เมื่อ พ.ศ.2525 ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มีฐานะเป็นองค์การอิสระอยู่ภายใต้การกำกับการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- อำนาจหน้าที่ของธนาคารกลาง
1) หน้าที่ออกธนบัตร ตามปกติธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกธนบัตร เพื่อจะได้ควบคุมปริมาณธนบัตรที่ใช้ให้พอดีกับความต้องการของประชาชนโดยทั่วไปและความต้องการของธุรกิจ โดยมีกฎหมายควบคุมการออกธนบัตรให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ดังพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 “มาตรา 30 ให้สินทรัพย์ดังต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จะประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา”
ทุนสำรองเงินตรา คือ สินทรัพย์ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นทุนหนุนหลังธนบัตรที่ออกใช้ภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีหน้าที่ออกธนบัตร จะต้องมีหลักทรัพย์เป็นทุนสำรอง ร้อยละร้อย ดังดัง 1) ทองคำ 2) เงินตราต่างประเทศอันเป็นเงินตราที่พึงเปลี่ยนได้ หรือเงินตราต่างประเทศอื่นใดกำหนดโดยกฎกระทรวง ทั้งนี้ต้องเป็นรูปเงินฝากในธนาคารนอกราชอาณาจักรหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ 3) หลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในข้อ 2 4) ทองคำและสินทรัพย์ต่างประเทศที่นำส่งมอบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 5) ใบสำคัญสิทธิพิเศษถอนเงิน 6) หลักทรัพย์รัฐบาลไทยที่จะมีการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในข้อ 2 หรือเป็นเงินบาท 7) ตั๋วเงิน ในประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพึงซื้อ หรือรับช่วงซื้อลดได้ แต่ต้องมีค่ารวมกันไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนธนบัตรที่ออก ทุนสำรองตามข้อ 1 2 3 4 5 6 และ 7 รวมกันต้องเป็นร้อยละร้อยของธนบัตร และต้องมีทุนสำรองตามข้อ 1 2 3 4 และ 5 ไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบ |
2) เป็นนายธนาคารของรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นนายธนาคารดังต่อไปนี้
2.1) เป็นผู้รักษาเงินฝากของรัฐบาล
2.2) เป็นผู้ให้กู้ยืมแก่รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
2.3) เป็นตัวแทนทางการเงินของรัฐบาล
3) เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมการดำเนินกิจการของธนาคารพาณิชย์ และดูแลกิจกรรมดังต่อไปนี้
3.1) หน้าที่ในการรับฝากเงิน ธนาคารพาณิชย์จะต้องฝากเงินสดสำรองตามกฎหมายไว้ที่ธนาคารกลาง นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์มักจะฝากเงินสดส่วนที่เกินความจำเป็นต้องใช้ไว้กับธนาคารกลาง
3.2) หักบัญชีระหว่างธนาคาร การที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องฝากเงินสดสำรองตามกฎหมายไว้ที่ธนาคารกลาง เมื่อมีหนี้สินระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน จึงทำให้ธนาคารกลางมีหน้าที่ช่วยหักลบหนี้สินระหว่างธนาคารพาณิชย์กับธนาคารกลางด้วยกัน
3.3) เป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย ธนาคารกลางเป็นแหล่งสุดท้ายที่ธนาคารพาณิชย์จะพึ่งได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามฉุกเฉิน เช่น ธนาคารขาดเงิน เงินสดไม่พอจ่าย ธนาคารกลางก็จะให้ธนาคารพาณิชย์กู้ยืม
4) ดำเนินนโยบายทางการเงิน เป็นหน้าที่และบทบาทสำคัญของธนาคารกลางในการควบคุมปริมาณเงินของประเทศให้มีปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้มาตรการต่างๆในการแก้ปัญหาทางการเงิน
1.2.5 ธนาคารพาณิชย์
ธนาคารพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 มาตรา 4 ได้ให้ความหมายว่า ธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารที่ประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น การให้กู้ยืม การขายหรือเก็บเงินตามตั๋วเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใดหรือขายเงินตราต่างประเทศ
- ระบบธนาคารพาณิชย์
1) ระบบธนาคารอิสระหรือระบบธนาคารเดี่ยว คือ ธนาคารที่ดำเนินการโดยเอกเทศ แต่ละแห่งเป็นหน่วยงานอิสระที่สำนักงานเพียงแห่งเดียว การดำเนินงานมักทำโดยคนในท้องถิ่น เพื่อบริการคนในท้องถิ่นนั้น
2) ระบบธนาคารสาขา คือ ระบบธนาคารที่มีสาขาของตนตั้งขึ้นในท้องถิ่นทั่วประเทศหรือต่างประเทศ ธนาคารสาขาจะดำเนินงานภายใต้นโยบายของสำนักงานใหญ่
- การบริการของธนาคาร
1) บริการรับฝากเงิน แบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่
1.1) เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝากที่สนับสนุนการออมของผู้ออมรายย่อย ธนาคารจะไม่กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่จะรับฝากแต่ละครั้ง หรือกำหนดไว้ต่ำมาก จึงเป็นบัญชีที่ผู้ออมอาจนำเงินฝากไว้แม้ว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย บัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไม่มีระยะเวลาของการรับฝาก แต่การให้อัตราดอกเบี้ยกับเงินฝากประเภทนี้ต่ำมาก
1.2) เงินฝากประจำ หรือเงินฝากที่มีการกำหนดระยะเวลา เป็นเงินฝากที่ผู้ฝากจะกำหนดระยะเวลาของการฝากไว้ เช่น ฝากระยะ 6 เดือน 1 ปี 2 ปี เป็นต้น ปกติธนาคารจะกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ธนาคารจะรับฝากสำหรับการฝากแต่ละครั้ง เงินฝากประเภทนี้จะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น
1.3) เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากประเภทนี้เป็นเงินฝากที่ผู้ฝากจะโอนจ่ายเงินในบัญชีของตนให้กับผู้อื่นได้ด้วยการเขียนเช็คสั่งจ่าย ธนาคารจะโอนเงินจำนวนเท่ากับที่ผู้สั่งจ่าย (ผู้เป็นเจ้าของบัญชี)ระบุไว้บนเช็คให้กับผู้ที่นำเช็คมาขึ้นเงิน โดยปกติแล้วธนาคารจะไม่ให้ดอกเบี้ยกับเงินฝากประเภทนี้
2) บริการให้กู้เงิน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
2.1) เงินให้กู้ เป็นเงินที่ธนาคารให้กู้แก่ลูกค้าเป็นเงินก้อน ลูกค้าผู้กู้จะเบิกเงินไปได้ทั้งจำนวนเพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของตน
2.2) เงินเบิกเกินบัญชี แตกต่างจากเงินให้กู้ตรงที่ว่าเมื่อผู้กู้ทำสัญญาขอกู้แบบเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารแล้ว ธนาคารยังไม่ถือว่าผู้กู้เป็นลูกหนี้ของธนาคาร จนกว่าผู้กู้จะได้ใช้จ่ายเงินเกินบัญชีกระแสรายวันที่ตนมีอยู่กับธนาคารได้เท่ากับจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา สัญญาเงินกู้นี้เป็นสัญญาที่สะดวก สำหรับผู้ที่ทำการค้าที่บางเวลาต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ต้องการเงินไปใช้เป็นช่วงเวลาไม่นานนัก แต่อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินเบิกเกินบัญชีมักสูงกว่าเงินกู้ประเภทอื่น
2.3) ตั๋วเงินซื้อลด เป็นวิธีการให้เงินกู้เพื่อการค้า โดยธนาคารจะรับซื้อตั๋วเงินที่พ่อค้ารายหนึ่งออกให้กับพ่อค้าอีกรายหนึ่ง ตั๋วเงินนี้เป็นตั๋วเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากการซื้อขายสินค้าซึ่งจะมีการชำระเงินภายหลังแต่พ่อค้าที่ได้รับตั๋วเงินต้องการเงินสดไปใช้ก่อน จะนำตั๋วเงินนี้ไปขายลดต่อให้กับธนาคาร ตั๋วเงินประเภทนี้จะเป็นตั๋วที่มีการชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้หน้าตั๋วในวันที่ตั๋วเงินครบกำหนด
ตั๋วเงิน ในทางการเงิน หมายถึง ตราสารทางการเงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนดชนิดของตั๋วเงินออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. เช็ค คือ ตั๋วเงินที่บุคคลหนึ่งสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง หรือจ่ายให้แก่ตนเองโดยกำหนดจำนวนเงินและเวลาไว้แน่นอน 2. ตั๋วแลกเงิน คือ ตั๋วเงินที่บุคคลที่หนึ่ง สั่งให้บุคคลที่ 2 จ่ายเงินให้กับบุคคลที่ 3 โดยมีวันครบกำหนดใช้เงินและจำนวนเงินที่แน่นอน 3. ตั๋วสัญญาใช้เงิน คือ ตั๋วเงินที่บุคคลหนึ่งสัญญาว่าจะใช้เงินแก่บุคคลหนึ่ง ณ วันที่ครบกำหนด โดยระบุจำนวนเงินที่แน่นอน ตั๋วสัญญาใช้เงินอาจจะระบุดอกเบี้ยหรือไม่ระบุก็ได้ |
3. การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
4) บริการอื่นๆ ชำระค่าสาธารณูปโภค รับชำระค่าบัตรเครดิตต่างธนาคาร ให้เช่าตู้นิรภัย
บัตรเครดิต บัตร ATM (automatic teller machine)
1.2.5 ธนาคารเฉพาะ
ธนาคารเฉพาะ คือ ธนาคารที่จัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเฉพาะเรื่องและจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารนั้น ๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีธนาคารเฉพาะจำนวน 6 ธนาคารคือ
1) ธนาคารออมสิน (The Government Savings Bank) เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 ธนาคารออมสินเป็นธนาคารของรัฐบาลทำหน้าที่ระดมเงินออม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินออมของผู้ออมรายย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในรูปของเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำเป็นส่วนใหญ่และยังระดมเงินออมโดยการขายพันธบัตรออมสินและสลากออมสิน เป็นต้น แล้วนำเงินออมมาปล่อยสินเชื่อให้แก่รัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยการซื้อพันธบัตรและตั๋วเงินคลังปล่อยสินเชื่อให้แก่รัฐวิสาหกิจ และหันมาปล่อยสินเชื่อให้แก่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้น
2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (Bank for Agriculture and Agricultural Coperatives หรือ BAAC) เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประมาณร้อยละ 98 ของทุนเรือนหุ้น ส่วนที่เหลือได้แก่ สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร บริการรับฝากเงินจากประชาชนโดยทั่วไป และให้สินเชื่อระยะสั้นและระยะปานกลางเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป้าหมายหลักของธนาคารก็เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ซึ่งครอบคลุมการกสิกรรม การประมง การเลี้ยงสัตว์ การทำนาเกลือและให้สินเชื่อการดำเนินธุรกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร
3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) (Government Housing Bank หรือ GHB) เป็นสถาบันทางการเงินของรัฐภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2496 ตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 เพื่อทำหน้าที่ในการจัดหาเงินทุนด้วยการระดมเงินฝากจากประชาชนมาปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน ในการซื้อที่ดินหรืออาคารหรือเพื่อสร้าง ซ่อมแซมต่อเติมอาคาร โดยคิดในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
4) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) (The Export – Import Bank หรือ EXIM Bank) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 เพื่อประกอบธุรกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก นำเข้าและการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ เป็นธนาคารที่ไม่รับฝากเงินจากประชาชนแหล่งเงินทุนได้มาจากทุนประเดิมเทื่อจัดตั้ง เงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยและจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ ให้สินเชื่อแก่ผู้ส่งออกทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศ และรับประกันการส่งออกเพื่อลดความเสี่ยง
5) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) (Small and Medium Enterprise Development Bank of Thailand หรือ SME Bank) เป็นธนาคารที่เปลี่ยนสถานะมาจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 เป็นสถาบันที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นโดยทำหน้าที่ให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
6) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Bank of
1.2.6 สถาบันการเงินที่ไม่ประกอบกิจการธนาคาร
1) บริษัทเงินทุน (บง.) (Finance Companies) เป็นสถาบันทางการเงินที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด หาทุนเพื่อบุคคลอื่น โดยบริษัทจะกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน แล้วนำมาปล่อยกู้เพื่อการต่าง ๆ
2) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) (Securities Companies) เป็นสถาบันทางการเงินที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เพื่อทำหน้าที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่าง ๆ ได้แก่ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนหลายบริษัทแต่ที่เป็นบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีจำนวน 35 บริษัท
3) บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัย (Insurance Companies) เป็นสถาบันเอกชนเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ พ.ศ.2471 ธุรกิจประกันภัย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- การประกันวินาศภัยเป็นสัญญาเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัย” ซึ่งผู้รับประกันตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกัน ตามจำนวนที่รับประกันภัย การประกันวินาศภัยอาจแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ประกันภัยรถยนต์ เป็นต้น
- การประกันชีวิต เป็นสัญญาเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันชีวิต” ซึ่งผู้รับประกันตกลงจะชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ ตามที่ตกลงในสัญญา
4) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (Credit Foncier Companies) เป็นสถาบันเอกชนเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 โดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านและที่ดิน การกู้ยืมจะต้องใช้บ้านและที่ดินค้ำประกัน
5) โรงรับจำนำ (Pawnshops) เป็นธุรกิจการเงินขนาดเล็ก เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ พ.ศ.2409 วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปกู้ยืมโดยการรับจำนำสิ่งของ โรงรับจำนำแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ - โรงรับจำนำเอกชน
- สถานธนานุเคราะห์ เป็นโรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยกรมประชาสงเคราะห์
- สถานธนานุบาล เป็นโรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยเทศบาล
6) สถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น