http://sagehouse.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

สินค้า

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

แนวข้อสอบO-netวิชาสังคมศึกษา

เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

ภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ

ปฎิทิน

« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930

สถิติ

เปิดเว็บ02/10/2010
อัพเดท19/10/2023
ผู้เข้าชม1,200,660
เปิดเพจ1,504,250
สินค้าทั้งหมด1

สินค้า

สินค้ามาใหม่
 สินค้าทั้งหมด
iGetWeb.com
AdsOne.com

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 สหกรณ์และเศรษฐกิจในชุมชน

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 สหกรณ์และเศรษฐกิจในชุมชน

 โรเบิร์ต โอเวน  บิดาแห่งสหกรณ์ 

 

ชาญณรงค์  บัวแย้มแสง โรงเรียนโยธินบูรณะ

เรียบเรียง

หน่วยการเรียนรู้ที่  4   

ระบบสหกรณ์และเศรษฐกิจในชุมชน 

เรื่องที่  1  ความหมาย  ความสำคัญและหลักการของสหกรณ์

1.1  ความหมายของสหกรณ์

          สหกรณ์  มีรากศัพท์เดิมมาจากภาษาสันสกฤต  2  คำ  คือคำว่า  “สห”  (แปลว่าร่วมกัน)  และ “กรณ์”  (แปลว่า  การกระทำ)  คำว่าสหกรณ์จึงแปลตามรากศัพท์เดิมว่า  การกระทำร่วมกัน  หรือการร่วมมือกัน

          พระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ  พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย  ได้ประธานคำแปลว่า  สหกรณ์เป็นวิธีจัดการรูปแบบหนึ่งซึ่งบุคคลหลายคนเข้าร่วมกันโดยความสมัครใจของตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์โดยความมีสิทธิเสมอหน้ากันหมด  เพื่อความบำรุงตนเองให้เกิดความเจริญทางทรัพย์

          พระราชบัญญัติสหกรณ์  พุทธศักราช  2542  มาตรา  4  บัญญัติไว้ว่า  สหกรณ์  หมายความว่า  คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม  โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันและได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

          สรุปสหกรณ์  หมายถึง  การรวมกลุ่มกันของประชาชน  เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคม  โดยยึดหลักประชาธิปไตย  ไม่มุ่งหวังหาผลกำไรและมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม

 1.2  ความสำคัญของสหกรณ์

          [1]สหกรณ์มีความสำคัญต่อชุมชน  ประเทศชาติและสังคมโลก  คือ  สหกรณ์สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน  ขัดเกลาให้สมาชิกเป็นคนดี  มีศีลธรรมและการเสียสละเพื่อส่วนรวม  ความสำคัญของสหกรณ์สามารถจำแนกเป็นด้านดังนี้

          -  ด้านเศรษฐกิจ  มีบทบาทในการส่งเสริมอาชีพ  ทำให้คนในชุมชนมีงานทำมีรายได้  ส่งเสริมการออมทรัพย์  ให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ  เกิดการขยายธุรกิจการค้า  เป็นต้น

          -  ด้านสังคม  มีบทบาทในการพัฒนาชุมชน  สังคมและประเทศชาติให้เข้าแข็ง  ช่วยเหลือผู้อ่อนแอ  ยากไร้ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้  สร้างสวัสดิภาพสังคมและบริการสาธารณะให้กับชุมชน  เป็นต้น

          -  ด้านศีลธรรม  มีบทบาทในการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม  ให้สมาชิกรู้จักช่วยเหลือ  แบ่งปันกัน  แบ่งผลตอบแทนกันอย่างยุติธรรม  เป็นต้น

          -  ด้านการปกรอง  มีบทบาทในการส่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย  เพราะหลักการดำเนินกิจการของสหกรณ์ยึดหลักประชาธิปไตย 

          -  ด้านการศึกษา  มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ  จัดอบรมให้ความรู้ด้านต่าง ๆ

1.3  หลักการของสหกรณ์

          ตามหลักของสหกรณ์รอชเดล  เป็นต้นแบบ  คือ

          -  การเปิดรับสมาชิกทั่วไปด้วยความสมัครใจ

          -  การควบคุมตามหลักประชาธิปไตยและดำเนินการเป็นอิสระ

          -  การจำกัดดอกเบี้ยทุนเรือนหุ้นโดยกำหนดอัตราจ่ายเงินปันผลค่าหุ้นหรือทุนเรือหุ้นไว้ในอัตราต่ำ

          -  การแบ่งเงินปันผลตามส่วนแบ่งธุรกิจที่ทำกับสหกรณ์และการจัดสรรส่วนเกินหรือกำไรเพื่อการพัฒนาสหกรณ์และจัดบริการเพื่อส่วนรวม

          -  การค้าด้วยเงินสดและจำหน่ายสินค้าในราคาตลาด

          -  การส่งเสริมการศึกษาทางสหกรณ์

          -  การเป็นกลางทางศาสนาและการเมือง

 เรื่องที่  2  วิวัฒนาการและประเภทของสหกรณ์ในประเทศไทย

 2.1  วิวัฒนาการของสหกรณ์

          [2]การปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19 ได้มีการนำเครื่องจักรมาทำงานแทนคน  จนทำให้เกิดภาวะการว่างงานและเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศอังกฤษ  เกิดความเดือดร้อนอย่างมากจากการที่คนงานถูกปลดออกจากงานและผู้ประกอบการรายย่อยต้องล้มละลาย  ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งในสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นเป็นนายทุนและกรรมกร

          ในช่วงเวลานั้นได้มีนักคิดทางเศรษฐศาสตร์เสนอแนวคิดในการปรับสภาพทางเศรษฐกิจให้ชนชั้นกรรมกร  โดยเสนอแนวทางให้ผู้เดือดร้อนได้ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือตนเองและแนวคิดนี้เองที่เป็นแนวทางนำไปสู่ระบบสหกรณ์ในเวลาต่อมา  อย่างไรก็ตามผู้ที่นำแนวคิดมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังคือ  โรเบิร์ต  โอเวน  ซึ่งภายหลังได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการสหกรณ์ของโลก  โดยเขาเป็นผู้เสนอให้จัดตั้งชมรม “สหกรณ์”  ขึ้น    แต่สภาพสังคมของอังกฤษไม่เอื้ออำนวยให้จัดตั้งชมรมสหกรณ์ตามแนวคิดของเขาได้  ต่อมาโอเวนได้เดินทางไปทดลองจัดตั้งชมรมสหกรณ์ขึ้นที่นิวฮาโมนี   รัฐอินดีแอนา  ประเทศสหรัฐอเมริกา  พ.ศ.2368  แต่ภายหลังต้องล้มเลิกเมื่อต้องเผชิญอุปสรรคเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและปัญหาการต่อต้านเกี่ยวกับสถาบันการเมืองและศาสนา

          ในพ.ศ.2370  นายแพทย์วิลเลียม คิง  ชาวเมืองโปรตัน  ประเทศอังกฤษ  ซึ่งเป็นผู้นิยมในความคิดสหกรณ์ของโอเวน  โดยชักชวนคนงานให้ร่วมทุนกันจัดตั้งสมาคมการค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า  การดำเนินการของสมาคมจะเก็บสะสมผลกำไรไว้เพื่อขยายกิจการของร้านค้าต่อไปแนวคิดนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จแต่ก็ถือเป็นแบอย่างของสหกรณ์ร้านค้าในเวลาต่อมา  (แต่ถือว่าสหกรณ์ของนายแพทย์วิลเลียม คิง  เป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลก  ซึ่งเป็นรูปแบบของสหกรณ์ร้านค้า)

          ใน พ.ศ.2393  นายเฮอร์มัน  ชูร์  ชาวเยอรมันได้จัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นในหมู่ช่างฝีมือและพ่อค้า  และในพ.ศ.2405  นายฟรีดริก  วิลเฮล์ม  ไรพ์ไฟเซน  ชาวเยอรมันได้จัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นในหมู่เกษตรกรในชนบทเพื่อจัดหาทุนให้สมาชิกกู้ยืม  ซึ่งจากพัฒนาการจัดตั้งสหกรณ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นก็ได้กลายเป็นสหกรณ์ต้นแบบของโลก  รวมทั้งสหกรณ์ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

2.2  ความเป็นมาของสหกรณ์ในประเทศไทย

          ประเทศไทยเริ่มศึกษาวิธีการสหกรณ์ใน พ.ศ.2457  กระทั่งในปี พ.ศ.2458  ได้มีการจัดตั้งกรมสถิติพยากรณ์เป็นกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์  พระราชวรวงศ์  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ  อธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ได้ทรงจัดตั้งสหกรณ์ชนิดไรฟ์ไฟเซนที่เกิดขึ้นในเยอรมนีเพื่อปรับใช้กับไทยก่อน  สหกรณ์แห่งแรกจัดตั้งขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก  ใช้ชื่อว่า  “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้”  จดทะเบียนเมื่อวันที่  26  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2459  มีพระราชวรวงศ์  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ  เป็นนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก 

          ใน พ.ศ.2471  ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติสหกรณ์  พุทธศักราช  2471  ขึ้น  โดยเปิดโอกาสให้มีการรับจดทะเบียนสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ ได้  ทำให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ได้กว้างขวางมากขึ้น

          พ.ศ.2511  ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์  พุทธศักราช 2511  โดยเปิดโอกาสให้สหกรณ์หาทุนขนาดเล็กที่ดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียวควบเข้ากันเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่  และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยได้ถือกำเนินขึ้น  เพื่อเป็นสถาบันสำหรับให้การศึกษาแก่สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ  มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับสถาบันสหกรณ์ต่างประเทศ 

          [3]ประเทศไทยพัฒนากิจการสหกรณ์มาตลอด  ข้อมูลในวันที่  1  มกราคม  2552  มีจำนวนสหกรณ์  6,928  สหกรณ์  และจำนวนสมาชิก  10,342,347  คน

 2.3  ประเภทของสหกรณ์ในประเทศไทย

          ปัจจุบันประเทศไทยแบ่งสหกรณ์ออกเป็น  6  ประเภท  ดังนี้

          1)  สหกรณ์การเกษตร  เป็นสหกรณ์ของผู้มีอาชีพเกษตรกร  อาทิเช่น  ชาวนา  ชาวสวน  ชาวไร่  ผู้เลี้ยงสัตว์  เช่น  สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี  จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) 

          2)  สหกรณ์นิคม  เป็นสหกรณ์ของผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม  แต่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีที่ดินทำกินไม่เพียงประกอบอาชีพ  โดยรัฐบาลจะจัดสรรที่ดินป่าสงวนที่เสื่อมสภาพแล้วให้ราษฎรถือครองเพื่อประกอบอาชีพ

          3)  สหกรณ์การประมง  เป็นสหกรณ์สำหรับผู้มีอาชีพประมง  วัตถุประสงค์ของสหกรณ์คือแก้ปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ  การให้ความรู้ทางวิชาการและส่งเสริมอาชีพประมงทั้งการจำหน่ายสัตว์น้ำ  ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและอุปกรณ์การประมง  เช่น  สหกรณ์ประมงแม่กลอง  จำกัด

          4)  สหกรณ์ร้านค้า  เป็นสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นให้กับสมาชิกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย   เช่น  ร้านสหกรณ์ผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  จำกัด (รส.กฝผ.) 

          5)  สหกรณ์ออมทรัพย์  เป็นสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสมาชิกรู้จักการออมทรัพย์และให้ความช่วยเหลือกันด้วยการให้กู้ยืม  เมื่อเกิดความจำเป็น  เช่น  สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษา จำกัด

          6)  สหกรณ์บริการ  เป็นสหกรณ์ของผู้ประกอบอาชีพบริการประเภทเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพอย่างเดียวกัน  เช่น  สหกรณ์แท็กซี่ 



[1] ณัทธนัท  เลี่ยวไพโรจน์.หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานเศรษฐศาสตร์.กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)จำกัด,มปป.

[2] วิโรจน์  มโนพิทักษ์.สื่อสาระการเรียนรู้พื้นฐานฯเศรษฐศาสตร์ม.4-6.พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์,2548.

[3] ข้อมูลจาก  กรมส่งเสริมสหกรณ์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  www.cpd.go.th

Tags : cooperative

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view