http://sagehouse.igetweb.com
สร้างเว็บไซต์Engine by iGetWeb.com

 หน้าแรก

สินค้า

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

แนวข้อสอบO-netวิชาสังคมศึกษา

เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

ภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ

ปฎิทิน

« November 2024»
SMTWTFS
     12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930

สถิติ

เปิดเว็บ02/10/2010
อัพเดท19/10/2023
ผู้เข้าชม1,200,668
เปิดเพจ1,504,258
สินค้าทั้งหมด1

สินค้า

สินค้ามาใหม่
 สินค้าทั้งหมด
iGetWeb.com
AdsOne.com

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 การกำหนดราคาและค่าจ้างในระบบเศรษฐกิจ

หน่วยการเรียนรู้ที่  2  การกำหนดราคาและค่าจ้างในระบบเศรษฐกิจ

ชาญณรงค์  บัวแย้มแสง โรงเรียนโยธินบูรณะ

เรียบเรียง

หน่วยการเรียนรู้ที่ 

การกำหนดราคาและค่าจ้างในระบบเศรษฐกิจ 

   เรื่องที่  1  การกำหนดราคาตามอุปสงค์และอุปทาน

 

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมกลไกราคาจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ราคาของสินค้าและบริการ จะเป็นเครื่องชี้ให้หน่วยธุรกิจตัดสินใจว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไรบ้าง อย่างไร และจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์แล้วราคาจะถูกกำหนดมาจากอุปสงค์และอุปทานของตลาด

 

1.1  อุปสงค์  (demand)

          อุปสงค์ (demand) หมายถึง ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะซื้อ และสามารถซื้อหามาได้ในขณะใดขณะหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆที่ตลาดกำหนดมาให้

จากความหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการจะเกิดอุปสงค์ได้นั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ

               -  ความต้องการซื้อ (wants) ลำดับแรกผู้บริโภคจะต้องมีความอยากได้ในสินค้าหรือบริการเหล่านั้นก่อน อย่างไรก็ตาม การมีแต่ความต้องการไม่ถือว่าเป็นอุปสงค์ เพราะอุปสงค์จะต้องเป็นความต้องการที่สามารถซื้อได้และเกิดการซื้อขายขึ้นจริงๆ

               -  ความเต็มใจที่จะจ่าย (willingness to pay) คือการที่ผู้บริโภคมีความยินดีที่จะยอมเสียสละเงินหรือทรัพย์สินที่ตนมีอยู่เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการต่างๆเหล่านั้นมาเพื่อใช้ในการบำบัดความต้องการของตน

               -  ความสามารถที่จะซื้อ (purchasing power or ability to pay) ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญ คือไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความอยากได้หรือความต้องการในสินค้าหรือบริการมากน้อยเพียงใดก็ตาม ถ้าปราศจากความสามารถที่จะซื้อหรือจัดหามาแล้วการซื้อขายจริงๆจะไม่เกิดขึ้น นั่นคือ จะเป็นแต่เพียงความต้องการที่มีแนวโน้มจะซื้อ (potential demand) เท่านั้น ซึ่งความสามารถที่จะซื้อโดยปกติจะถูกกำหนดจากขนาดของทรัพย์สินหรือรายได้ที่บุคคลนั้นมีหรือหามาได้ โดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ถ้ามีรายได้หรือทรัพย์สินมากความสามารถ ที่จะซื้อจะมีสูง ถ้ามีน้อยก็จะมีความสามารถซื้อต่ำ

 

1.2  กฎของอุปสงค์  (Law of Demand)

ภายใต้ข้อสมมติว่าปัจจัยตัวอื่นๆที่มีผลต่ออุปสงค์มีค่าคงที่ (other-things being equal) ปริมาณอุปสงค์ของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม (ผกผัน) กับระดับราคาของสินค้าชนิดนั้น (inverse relation) กล่าวคือ เมื่อราคาลดลงปริมาณอุปสงค์จะเพิ่มขึ้น และเมื่อราคาสูงขึ้นปริมาณอุปสงค์จะลดลง ลักษณะทั่วไปของเส้นอุปสงค์จึงเป็นเส้นทอดลงจากซ้ายไปขวา (สินค้าปกติ)

 

ตัวอย่างตารางแสดงอุปสงค์การซื้อเงาะของนาย ก 

 

ราคา  (บาท) 

ปริมาณอุปสงค์ (กิโลกรัม) 

10

6

20

5

30

4

40

3

50

2

60

1

 

  

1.3  ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่ออุปสงค์

เส้นอุปสงค์ที่กล่าวมาแล้วเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณความต้องการซื้อกับราคาของสินค้าและบริการนั้น โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆคงที่ หากเรานำปัจจัยตัวอื่นเข้ามาพิจารณาจะเห็นว่าปริมาณความต้องการซื้อสินค้าหรือปริมาณอุปสงค์มิได้ขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าและบริการนั้นแต่เพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวอื่นๆซึ่งได้แก่  

-  ราคาสินค้าชนิดอื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกันหรือใช้ทดแทนกัน เช่น กาแฟกับน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกัน (complementary goods) ถ้าราคาของกาแฟสูงขึ้น อุปสงค์ในกาแฟจะลดลง ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในน้ำตาลลดลงด้วย ในทางกลับกัน ถ้าราคาของกาแฟลดลง อุปสงค์ในกาแฟจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ในน้ำตาลเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้นสำหรับกรณีสินค้าที่ใช้ประกอบกัน ราคาของสินค้าชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้น-ลดลง จะทำให้ปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าอีกชนิดหนึ่งลดลง-เพิ่มขึ้น ตามลำดับ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนกัน (substitution goods) เช่น เนื้อไก่กับเนื้อหมู เมื่อราคาของเนื้อไก่สูงขึ้น ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคเนื้อหมูแทนเนื้อไก่ เนื่องจากราคาเนื้อหมูถูกกว่าเนื้อไก่โดยเปรียบเทียบ นั่นคือปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในเนื้อไก่จะลดลง ส่วนของเนื้อหมูจะเพิ่มขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าราคาเนื้อไก่ลดลง จะส่งผลให้อุปสงค์ในเนื้อไก่และเนื้อหมูเพิ่มขึ้นและลดลงตามลำดับ นั่นคือ ถ้าเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนกันราคาของสินค้าชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้น-ลดลง จะทำให้ปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าอีกชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้น-ลดลง ตามลำดับ

-  จำนวนของประชากร แน่นอนว่าจำนวนประชากรกับปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าใดๆจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น-ลดลง ความต้องการในสินค้าและบริการต่างๆก็จะเพิ่มขึ้น-ลดลงตาม

-  รสนิยมของผู้บริโภค ปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าใดๆขึ้นอยู่กับ กาลเวลา แฟชั่น วัย เพศ ระดับการศึกษา ความชอบ ฯลฯ ซึ่งเป็นรสนิยมของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น อุปสงค์ในกางเกงยีนในกลุ่มวัยรุ่นจะมากกว่าในกลุ่มของผู้ใหญ่ (วัย) อุปสงค์ในเครื่องสำอางของกลุ่มผู้ชายจะน้อยกว่าของกลุ่มผู้หญิง (เพศ) ฯลฯ

-  ฤดูกาล เช่น ในฤดูร้อน อุปสงค์ในผ้าห่มจะมีน้อยลง ส่วนอุปสงค์ในเครื่องปรับอากาศและ พัดลมจะมีเพิ่มขึ้น หรืออย่างในฤดูหนาว อุปสงค์ในครีมบำรุงผิวจะมีมากกว่าในฤดูร้อน และในฤดูฝนอุปสงค์ในร่มจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูอื่นๆ เป็นต้น

-  วัฒนธรรม ประเพณี เช่น ผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามจะไม่มีอุปสงค์ในเนื้อหมูเลย หรือผู้บริโภคที่เป็นชาวจีนส่วนใหญ่จะไม่นิยมการบริโภคเนื้อวัว ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในเนื้อวัวมีน้อย ฯลฯ

-  การคาดคะเนราคาในอนาคตของผู้บริโภค กล่าวคือถ้าผู้บริโภคคาดว่าในอนาคตราคาสินค้าจะสูงขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีอุปสงค์ในสินค้าเหล่านั้นในปัจจุบันเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามถ้าคาดว่าราคาสินค้าจะลดลง ผู้บริโภคก็จะชะลอการใช้จ่ายในปัจจุบันลง นั่นคืออุปสงค์ของสินค้าเหล่านั้นในปัจจุบันจะน้อยลง

 

1.4  พฤติกรรมการบริโภคกับทฤษฎีอรรถประโยชน์

นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว พฤติกรรมการบริโภคก็เป็นตัวกำหนดหรือมีอิทธิพลต่อปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าและบริการต่างๆ   ซึ่งมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภค  คือ ทฤษฎีอรรถประโยชน์

คำว่า  อรรถประโยชน์  (Marginal  Utility)  นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความหมายว่า  ความพอใจที่บุคคลได้รับจากการบริโภคสินค้า

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น  ความต้องการและความสามารถในการซื้อเรียกว่า  อุปสงค์ (Demand) หากสมมติว่า  เราเป็นคนที่มีเหตุมีผลในทางเศรษฐศาสตร์  การตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าและบริการหรือไม่นั้นก็เป็นไปตามหลักการคิดแบบหน่วยสุดท้าย  กล่าวคือต้องมีการเปรียบเทียบความพึงพอใจที่จะได้รับจากการบริโภคเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย (Marginal Utility: MU) กับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการบริโภคหน่วยนั้นที่เพิ่มขึ้น (Marginal Cost: MC) หาก MU ที่ได้รับเท่ากันหรือมากกว่า MC ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคแล้ว  ก็จะทำการซื้อสินค้าชิ้นนั้น  

          อย่างไรก็ดี  MU ที่ได้รับจากการบริโภคนั้นไม่ได้คงที่เสมอไป  ลองนึกถึงความพึงพอใจที่ได้รับจากการได้กินข้าวแกงจานแรกกับความพึงพอใจที่ได้รับจากการกินข้าวแกงจานที่สอง  สาม  และสี่   จะเห็นได้ว่าข้าวจานแกงแรกให้ความพึงพอใจกับเรามากกว่าข้าวจานต่อๆ ไป  การลดลงของความพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภคเมื่อมีการบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดเดิมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  นั้น  เรียกว่า “กฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์” (Law of Diminishing Marginal Utility)[1]

          ถ้าเราเพิ่มข้อสมมติเข้าไปอีกว่า  ความพึงพอใจสามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเงินได้  เช่น  ข้าวจานแรกให้ MU กับเราเท่ากับ 30 บาท  ข้าวจานที่สองให้ MU  กับเราเท่ากับ 20 บาท  ถ้าข้าวแกงราคาจานละ 25 บาท (MC)  หากตัดสินใจตามหลักเศรษฐศาสตร์  เราก็จะซื้อข้าวแกงจานแรกมากินเนื่องจาก MU>MC  แต่จะไม่ซื้อข้างแกงจานที่สองเพราะความพึงพอใจที่ได้รับน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการบริโภค หากข้าวแกงราคาจานละ 15 บาท  เราก็จะซื้อข้าวแกงเพิ่มขึ้น  จากเดิมที่เคยซื้อแค่จานเดียว     ก็เพิ่มมาเป็นสองจาน  เพราะข้าวแกงจานที่สองนั้น MU>MC 

ด้วยสมมติฐานทั้งสองข้อนี้เองที่ทำให้เกิด กฎของอุปสงค์ (Law of Demand)  ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ในเชิงผกผันระหว่างราคาสินค้าและบริการกับปริมาณซื้อสินค้านั้น  เมื่อใดที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น  การซื้อสินค้าก็จะลดลง  ในทางตรงกันข้าม  เมื่อราคาสินค้าลดลง  ความต้องการซื้อสินค้านั้นก็จะเพิ่มขึ้น[2]

1)  กฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์  (Law  of  Diminishing  Marginal  Utility)     

เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยที่รสนิยมและอุปนิสัยของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลง  อรรถประโยชน์ของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นในระยะแรก  แล้วค่อยๆลดลง  จนถึงจุดหนึ่งส่วนที่เพิ่มจะเท่ากับศูนย์  จะลดลงต่ำกว่าศูนย์ซึ่งเป็นไปตามกฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์

2)  อรรถประโยชน์เพิ่มและอรรถประโยชน์รวม  (Marginal  Utility and  Total  Utility

                   -  อรรถประโยชน์เพิ่ม  (Marginal  Utility : MU)  คือ  ความพอใจที่บุคคลได้รับเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสินค้าและบริการการสนองความต้องการเพิ่มขึ้นทีละหน่วย

                   -  อรรถประโยชน์รวม  (Total  Utility : TU)  คือ  ผลรวมของอรรถประโยชน์เพิ่มที่บุคคลได้รับจากการบริโภคสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งขณะนั้น

 

          ตัวอย่าง  อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการบริโภคน้ำของบุคคลหนึ่ง   

 

น้ำแก้วที่ 

อรรถประโยชน์เพิ่ม (MU) หน่วย

อรรถประโยชน์รวม (TU)  หน่วย

1

2

3

4

5

6

7

8

10

8

6

4

2

0

-2

-4

10

18

24

28

30

30

28

24

 

เราเพิ่มข้อสมมติว่าความพึงพอใจสามารถแทนเป็นค่าได้  จะเห็นได้ว่าอรรถประโยชน์ที่เกิดจากการดื่มน้ำแก้วแรกจะมีค่ามากที่สุด  แต่อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการดื่มน้ำแก้วต่อๆไปเริ่มลดลงจนกระทั่งแก้วที่หกรู้สึกอิ่มทันทีคือไม่มีอรรถประโยชน์เลย  คือ  เท่ากับศูนย์  แต่ถ้าเรายังดื่มน้ำเข้าไปต่อแล้วนั้นนอกจากจะไม่มีอรรถประโยชน์แล้วให้โทษอีกด้วยนั่นคืออรรถประโยชน์ติดลบ

 

  

 1.4  อุปทาน  (supply)

อุปทาน (supply) หมายถึงปริมาณความต้องการเสนอขายสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการมีความเต็มใจที่จะเสนอขาย และสามารถจัดหามาขายหรือให้บริการได้ในขณะใดขณะหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆที่ตลาดกำหนดมาให้

จากความหมายของอุปทาน จะเห็นได้ว่าอุปทานประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ

           -  ความเต็มใจที่จะเสนอขายหรือให้บริการ (willingness) กล่าวคือ ณ ระดับราคาต่างๆ ที่ตลาดกำหนดมาให้ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการมีความยินดีหรือเต็มใจที่จะเสนอขายสินค้าหรือให้บริการตามความต้องการซื้อของผู้บริโภค

            -  ความสามารถในการจัดหามาเสนอขายหรือให้บริการ (ability to sell) กล่าวคือ ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการจะต้องจัดหาให้มีสินค้าหรือบริการอย่างเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการซื้อของผู้บริโภค ณ ระดับราคาของตลาดในขณะนั้นๆ (สามารถเสนอขายหรือให้บริการได้) เมื่อกล่าวถึงคำว่า อุปทาน จะเป็นการมองทางด้านของผู้ผลิตซึ่งตรงข้ามกับอุปสงค์ที่เป็นการมองทางด้านของผู้บริโภค ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ความสัมพันธ์ของราคาสินค้าที่มีต่ออุปทานของสินค้านั้นจะเป็นไปตามกฎของอุปทาน (Law of Supply)

1.5  กฎของอุปทาน  (Law of Supply)

ภายใต้ข้อสมมติว่าปัจจัยตัวอื่นๆที่มีผลต่ออุปทานมีค่าคงที่ ปริมาณอุปทานของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับราคาของสินค้าชนิดนั้น กล่าวคือเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นปริมาณอุปทานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายมากขึ้น เพราะคาดการณ์ว่าจะได้กำไรสูงขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อราคาสินค้าลดลงปริมาณอุปทานจะน้อยลง เนื่องจากคาดการณ์ว่ากำไรที่ได้จะลดลง ลักษณะทั่วไปของเส้นอุปทานจึงเป็นเส้นที่มีลักษณะที่ลากเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวา

 

 

ตัวอย่างตารางแสดงอุปทาน การขายเงาะของนาย ข

ราคา  (บาท) 

ปริมาณอุปทาน (กิโลกรัม) 

10

1

20

2

30

3

40

4

50

5

60

6

 

1.6  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออุปทาน

เส้นอุปทานที่กล่าวมาแล้วเป็นความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณความต้องการขายกับราคาของสินค้าหรือบริการนั้น โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆคงที่ หากเรานำปัจจัยตัวอื่นเข้ามาพิจารณา จะเห็นว่าปริมาณความต้องการขายสินค้าหรือปริมาณอุปทานมิได้ขึ้นอยู่กับราคาของสินค้าหรือบริการนั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยตัวอื่นๆซึ่งได้แก่

-  ต้นทุนการผลิต เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าปริมาณความต้องการเสนอขายหรืออุปทานจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางกลับกันกับต้นทุนการผลิตของผลผลิตหรือสินค้าหรือบริการนั้นๆ กล่าวคือ ภายใต้ต้นทุนการผลิตระดับหนึ่งถ้าต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของสินค้าหรือบริการสูงขึ้น ความสามารถในการเสนอขายหรืออุปทานจะมีปริมาณน้อยลง ถ้าต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลงปริมาณอุปทานจะมีมากขึ้น

-  ราคาปัจจัยการผลิต เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตเป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิตของสินค้าหรือบริการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาปัจจัยการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน เช่น ถ้าค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการเสนอขายหรืออุปทานลดลงได้ และถ้ากลับกันก็จะให้ผลในทางตรงกันข้าม

-  ราคาสินค้าชนิดอื่น การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าชนิดหนึ่งอาจมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการเสนอขายหรืออุปทานของสินค้าชนิดหนึ่งได้ เช่น ถ้าราคาส้มลดลง ชาวสวนอาจหันไปปลูกมะนาวแทน ทำให้ปริมาณความต้องการขายส้มลดลง ส่วนของมะนาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายดังกล่าวคาดว่าตนจะได้รับกำไรเพิ่มขึ้นจากการปลูกมะนาวแทนส้ม

-  เทคโนโลยีการผลิต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง เนื่องจากปัจจัยการผลิตจำนวนเท่าเดิมผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากขึ้น นั่นคือ ความสามารถในการเสนอขายหรืออุปทานของสินค้าของผู้ผลิตมีเพิ่มขึ้น

-  ภาษี จำนวนภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บจากการขายสินค้าและบริการเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิตของสินค้าและบริการ ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีในอัตราสูงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ทำให้อุปทานลดลง แต่ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีในอัตราลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง และอุปทานจะเพิ่มขึ้น

-  การคาดการณ์ราคาสินค้าในอนาคต ถ้าผู้ผลิตคาดการณ์ว่าราคาสินค้าในอนาคตจะสูง ขึ้น ผู้ผลิตจะชะลอปริมาณการเสนอขายในปัจจุบันลง เพื่อจะเก็บไว้รอขายในอนาคต (อุปทานลดลง) ในทางกลับกัน ถ้าคาดการณ์ว่าราคาสินค้าในอนาคตจะลดลง ผู้ผลิตจะเพิ่มปริมาณการเสนอขายในปัจจุบันมากขึ้น (อุปทานเพิ่มขึ้น)

-  สภาพดินฟ้าอากาศ ส่วนใหญ่จะมีอิทธิพลต่อผลผลิตทางการเกษตร ถ้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลผลผลิตก็จะมีมากและอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าสภาพดินฟ้าอากาศไม่ดีปริมาณผลผลิตก็จะมีน้อย

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยต่างๆมากมายที่เป็นตัวกำหนดหรือมีอิทธิพลต่อปริมาณความต้องการเสนอขายหรืออุปทานของสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวแต่เพียงเท่านี้

 

1.7  ราคาและราคาดุลยภาพ

ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าราคาของสินค้าและบริการจะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาด เนื่องจากอุปสงค์จะแสดงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าชนิดหนึ่งเป็นปริมาณเท่าใดในแต่ละระดับราคา ส่วนอุปทานจะเป็นการแสดงถึง พฤติกรรมของผู้ผลิตในการขายสินค้าชนิดนั้นเป็นปริมาณเท่าใดในแต่ละระดับราคา โดยปกติแล้วปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าไม่จำเป็นจะต้องเท่ากับปริมาณความต้องการเสนอขายหรือ อุปทานในสินค้า ณ ขณะใด พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าจะเป็นไปตามกฎของอุปสงค์และอุปทานดังนี้

ถ้าอุปสงค์ของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งมีปริมาณมากกว่าอุปทานของสินค้าชนิดนั้น ราคาสินค้านั้นจะมีแนวโน้มสูงขึ้น และเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นจะทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น อุปสงค์ลดลง ตรงกันข้าม ถ้าอุปสงค์มีปริมาณน้อยกว่าอุปทาน ราคาสินค้านั้นจะมีแนวโน้มลดลง และเมื่อราคาสินค้าลดลงจะทำให้อุปทานลดลง อุปสงค์เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานของสินค้าจะเคลื่อนไหว สลับไปมาอย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งเข้าสู่ดุลยภาพของตลาด ณ จุดที่ปริมาณอุปสงค์เท่ากับปริมาณอุปทาน เราเรียกระดับราคาดังกล่าวว่า ราคาดุลยภาพ (equilibrium price)

ราคาดุลยภาพ  หมายถึง  ระดับราคา ณ จุดที่ปริมาณอุปสงค์เท่ากับปริมาณอุปทาน (ดุลยภาพ ของตลาด) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นราคาที่ความต้องการเสนอซื้อเท่ากันพอดีกับความต้องการ เสนอขาย ถ้าพิจารณาจากกราฟ ราคาดุลยภาพจะเป็นระดับราคา ณ จุดที่เส้นอุปสงค์ตัดกับเส้นอุปทาน

 

ตารางแสดงอุปสงค์และอุปทานการซื้อขายเงาะของตลาดแห่งหนึ่ง 

 

ราคา (บาท)

ปริมาณอุปสงค์ (กิโลกรัม) 

ปริมาณอุปทาน (กิโลกรัม)

10

140

20

20

120

40

30

100

60

40

80

80

50

60

100

60

40

120

70

20

140

 


 

จากตาราง ราคาดุลยภาพเท่ากับ 40 บาท ปริมาณดุลยภาพเท่ากับ 80 หน่วย (ปริมาณอุปสงค์เท่ากับปริมาณอุปทาน)

ระดับราคาที่อยู่เหนือราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (excess supply or surplus) เนื่องจากระดับราคาดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายมาก แต่ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อน้อย เกิดความไม่สมดุล ณ ระดับราคาดังกล่าว ถ้าผู้ผลิตมีความต้องการที่จะขายก็จะต้องลดราคาลงมา เพื่อกระตุ้นหรือจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ (มีความต้องการซื้อ) มากขึ้น โดยสรุป ราคาจะมีแนวโน้มลดลงจากเดิมจนเข้าสู่ราคาดุลยภาพ ในทางกลับกัน ถ้าราคาอยู่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด (excess demand or shortage) ซึ่งราคาดังกล่าว ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายน้อย แต่ผู้บริโภคกลับมีความต้องการซื้อมาก เกิดความไม่สมดุล เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการซื้อมาก (อุปสงค์เพิ่ม) ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตเสนอขายสินค้ามากขึ้น ในที่สุดราคาจะมีแนวโน้มเข้าสู่ราคาดุลยภาพ

กล่าวโดยสรุประดับราคาที่อยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะเป็นระดับราคาที่ไม่มีเสถียรภาพ ราคาที่อยู่สูงกว่าราคาดุลยภาพจะมีแนวโน้มลดลงมา ส่วนราคาที่อยู่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพ จะมีแนวโน้มสูงขึ้น จนในที่สุดเข้าสู่ดุลยภาพของตลาด ซึ่งเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพ เป็นระดับราคา ณ จุดที่อุปสงค์เท่ากับอุปทาน (เส้นอุปสงค์ตัดกับเส้นอุปทาน)

 

1.8  การเปลี่ยนแปลงในดุลยภาพของตลาด

          [3]ดุลยภาพของตลาดอาจเปลี่ยนได้  หากเส้นอุปสงค์เปลี่ยนหรือเส้นอุปทานเปลี่ยน  หรือทั้งสองเส้นเปลี่ยนพร้อมกัน 

อุปสงค์อาจเปลี่ยนไปในทางที่เพิ่มขึ้น  (เส้นอุปสงค์ Shift มาทางขวา)  หรืออุปสงค์อาจเปลี่ยนไปในทางที่ลดลง  (เส้นอุปสงค์ Shift มาทางซ้าย)  

ส่วนอุปทานอาจเปลี่ยนไปในทางที่เพิ่มขึ้น  (เส้นอุปทาน Shift มาทางขวา)  หรืออุปสงค์อาจเปลี่ยนไปในทางที่ลดลง  (เส้นอุปทาน Shift มาทางซ้าย) 

 

เรื่องที่  2  ตลาดและประเภทของตลาด

 

2.1  ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์

ตลาดในความหมายของบุคคลทั่วไป หมายถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีผู้นำของไปขายแล้ว มีคนมาซื้อ เป็นสถานที่เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการกัน เช่น ตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดขายอาหารสดทั่วไป ตลาดพาหุรัด ตลาดบางลำภู และตลาดบางเขน เป็นต้น

แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า ตลาด มีความหมายกว้างกว่านั้น กล่าวคือ ตลาดเป็นขอบเขต การขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อและทำความตกลงในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ ดังนั้นตลาดในความหมายทางเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้เน้นถึงสถานที่ที่ทำการซื้อขายกัน แม้ผู้ซื้อ และผู้ขายจะอยู่คนละมุมโลกและไม่มีสถานที่ซื้อขายกัน ก็อาจสร้างตลาดให้เกิดขึ้นได้โดยติดต่อซื้อขาย กันทางจดหมาย อีเมล โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ หรือทางโทรสารก็ได้ การซื้อขายโดยไม่ต้องมีตลาดเป็นตัวเป็นตน ไม่มีสถานที่ตั้งแน่นอนนี้ จึงทำให้สามารถขยายอาณาเขตการซื้อขายได้สะดวก ดังนั้นตลาดสินค้าและบริการบางอย่างจึงมีขอบเขตได้กว้างขวางทั่วโลกจึงเรียกว่า ตลาดโลก ตลาดโลกจึงมิได้ ตั้งอยู่ในที่หนึ่งที่ใด แต่เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงสภาวะการค้าสินค้าต่างๆทั่วโลกว่าในขณะนั้นแต่ละประเทศทั่วโลกมีผลผลิตและมีความต้องการซื้อขายสินค้าชนิดใดกันมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้แล้ว ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ยังหมายความรวมถึงภาวะการตลาดด้วย เช่น การเกิดภาวะราคาข้าวตกต่ำ ภาวะราคาหุ้นตกต่ำ ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ภาวะที่สินค้าขาดตลาด หรือภาวะที่มีสินค้าล้นตลาด

ความหมายของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์จึงกว้างมากและพอสรุปได้ดังนี้ ตลาด หมายถึงสภาวการณ์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อกันได้โดยสะดวก จนสามารถทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันได้

 

2.2  ประเภทของตลาดแบ่งตามลักษณะการแข่งขัน

การแบ่งตลาดตามลักษณะของการแข่งขันหรือเรียกว่าแบ่งตามจำนวนผู้ขายและลักษณะของ สินค้า การแบ่งตลาดตามวิธีนี้มีความใกล้เคียงความเป็นจริงมาก เพราะในความเป็นจริงนั้นจะมีผู้ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก การแบ่งตามจำนวนผู้ขายย่อมจะแบ่งได้สะดวกกว่า สำหรับการวิเคราะห์ตลาด ของนักเศรษฐศาสตร์ก็มุ่งให้ความสนใจในการแบ่งตลาดตามวิธีนี้ด้วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1) ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ (competitive market) หรืออาจเรียกว่าตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ (perfect or pure competition) ตลาดประเภทนี้มีอยู่น้อยมากในโลกแห่งความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่าเป็นตลาดในอุดมคติ (ideal market) ของนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดชนิดนี้เป็นตลาดที่ราคาสินค้าเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของอุปสงค์และอุปทานโดยแท้จริง ไม่มีปัจจัยอื่นๆมาผลักดันในเรื่องราคา ลักษณะสำคัญของตลาดประเภทนี้ คือ

 

          -  มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก (many buyers and sellers) แต่ละรายมีการซื้อขายเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายทั้งหมดในตลาด การซื้อขายสินค้าของผู้ซื้อหรือผู้ขายแต่ละรายไม่มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาในตลาด กล่าวคือ ถึงแม้ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะหยุดซื้อหรือขายสินค้าของตนก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด เพราะผู้ซื้อหรือผู้ขายแต่ละคนจะซื้อสินค้าหรือขายสินค้าเป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด

         -  สินค้าที่ซื้อหรือขายจะต้องมีลักษณะเหมือนกัน (homogeneity) สามารถที่จะใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ในทรรศนะหรือสายตาของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะซื้อสินค้าประเภทเดียวกันนี้จากผู้ขายคนใดก็ตามผู้ซื้อจะได้รับความพอใจเหมือนกัน เช่น ผงซักฟอก ถ้าตลาดมีการแข่งขันกันอย่างแท้จริงแล้ว ผู้ซื้อจะไม่มีความรู้สึกว่าผงซักฟอกแต่ละกล่องในตลาดมีความแตกต่างกัน คือใช้แทนกันได้สมบูรณ์ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ซื้อมีความรู้สึกว่าสินค้ามีความแตกต่าง เมื่อนั้นภาวะของความเป็นตลาดแข่งขันอย่างสมบูรณ์ก็จะหมดไป

          -  ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีความรอบรู้ในภาวะของตลาดอย่างสมบูรณ์ คือ มีความรู้ภาวะของอุปสงค์ อุปทาน และราคาสินค้าในตลาด สินค้าชนิดใดมีอุปสงค์เป็นอย่างไร มีอุปทานเป็นอย่างไร ราคาสูงหรือต่ำก็สามารถจะทราบได้

          -  การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้โดยสะดวก หมายความว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการติดต่อค้าขายกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตจะต้องเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วด้วย

          -  หน่วยธุรกิจสามารถเข้าหรือออกจากธุรกิจการค้าโดยเสรี ตลาดประเภทนี้จะต้องไม่มีข้อจำกัดหรือข้อกีดขวางในการเข้ามาประกอบธุรกิจของนักธุรกิจรายใหม่ หมายความว่าหน่วยการผลิตใหม่ๆจะเข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับหน่วยธุรกิจที่มีอยู่ก่อนเมื่อใดก็ได้ หรือในทางตรงกันข้ามจะเลิกกิจการเมื่อใดก็ได้

2)  ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (non-perfect competition market) เนื่องจากตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์เป็นตลาดที่หาได้ยากเพราะเป็นตลาดในอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดตามสภาพที่แท้จริงในโลกนี้ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าที่ซื้อขายในท้องตลาดส่วนมากมีลักษณะไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้ซื้อเกิดความพอใจสินค้าของผู้ขายคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ซื้อหรือผู้ขายในธุรกิจมีน้อยเกินไป จนกระทั่งมีอิทธิพลเหนือราคาที่จำหน่าย กล่าวคือ แทนที่จะเป็นผู้ยอมรับปฏิบัติตามราคาตลาดก็กลับเป็นผู้กำหนดราคาเสียเอง สินค้าที่ซื้อขายในตลาดทั่วๆไปก็มักจะเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆไม่สะดวก เพราะถนนไม่ดี การติดต่อสื่อสารไม่ดี และอาจจะมีกฎหมายการห้ามส่งสินค้าเข้าออกนอกเขตอีกด้วย ประกอบกับผู้บริโภคไม่ค่อยจะรอบรู้ในสภาวะของตลาดอย่างดีจึงทำให้ตลาดเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์

2.3  ประเภทของตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์

                    1)   ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition) ตลาดประเภทนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก และทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีอิสระเต็มที่ในการที่จะวางนโยบายการขายและการซื้อของตนโดยไม่กระทบกระเทือนคนอื่น แต่สินค้าที่ผลิตมีลักษณะหรือมาตรฐานแตกต่างกันถือเป็นสินค้าอย่างเดียวกัน แต่ก็มีหลายตรา หลายยี่ห้อ การบรรจุหีบห่อ การโฆษณาต่างกัน เป็นเหตุให้ผู้ซื้อชอบหรือพึงใจในสินค้ายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ขายสามารถกำหนดราคาสินค้าของตนได้ทั้งๆที่ผู้ขายในตลาดชนิดนี้ต้องแข่งขันกับผู้ขายรายอื่น เช่น สินค้าผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ

          2) ตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย (oligopoly) ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขายเพียงไม่กี่ราย และผู้ขายแต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด ถ้าหากว่า ผู้ขายรายใดเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายแล้วก็จะกระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น บริษัทผู้ขายน้ำมันในประเทศไทยซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ผู้ขายแต่ละบริษัทจะต้องวางนโยบายของตน ให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทอื่นๆเพื่อที่จะดำเนินการค้าร่วมกันอย่างราบรื่น และผู้ขายทุกคน ก็มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาและปริมาณสินค้าในตลาด ถ้าบริษัทใดเปลี่ยนนโยบายการขายย่อมมี ผลกระทบกระเทือนต่อสินค้าชนิดนั้นๆทั้งหมด เช่น ถ้าบริษัทใดบริษัทหนึ่งลดราคา สินค้าของคู่แข่งขันก็จะลดราคาลงด้วยเพื่อรักษาระดับการขายไว้

         3)  ตลาดผูกขาด (monopoly) คือตลาดที่มีผู้ขายอยู่เพียงคนเดียว ทำให้ผู้ขายมีอิทธิพลเหนือราคาและปริมาณสินค้าอย่างสมบูรณ์ในการที่จะเพิ่มหรือลดราคาและควบคุมจำนวนขายทั้งหมด (total supply) ได้ตามต้องการ ส่วนมากจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนมาก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กรายอื่นๆไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ ตลาดประเภทนี้ ได้แก่ บริษัทผลิตเครื่องบิน เครื่องจักรกล หรือกิจการสาธารณูปโภค เช่น การเดินรถประจำทาง โรงงาน ยาสูบ ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เป็นต้น

 

2.4 สาเหตุของการผูกขาด

ผู้ผลิตหรือธุรกิจผูกขาดเป็นผู้ควบคุมปริมาณวัตถุดิบแต่เพียงผู้เดียว เกิดจากข้อกำหนดของกฎหมายด้วยการมีลิขสิทธิ์หรือการขออนุญาตแบบมีสัมปทานเฉพาะรายธุรกิจ ทำให้ธุรกิจอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้

เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง มีประสิทธิภาพในการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งมีความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรต่างๆ ทำให้เกิดลักษณะของการผูกขาดธรรมชาติ (natural monopoly) ธุรกิจอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้

 เรื่องที่  3  บทบาทของรัฐในการแทรกแซงราคาและควบคุมราคา

จากการที่เราได้ทำการศึกษาเรื่องของอุปสงค์ อุปทานและดุลยภาพของตลาดมาแล้ว ต่อไปเราจะศึกษาบทบาทของรัฐบาลที่เข้าไปแทรกแซงตลาดหรือนโยบายการควบคุมราคา เป็นการยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อทำให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพ ทั้งนี้เพราะสินค้าบางชนิดราคาไม่ค่อยมีเสถียรภาพ กล่าวคือ เมื่อปริมาณการผลิตเปลี่ยนแปลงไปมักจะทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำเกินไปจนทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ผลิตได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นรัฐบาลจึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านผู้บริโภคและผู้ผลิต ซึ่งมีผลกระทบต่อดุลยภาพของตลาด โดยทั่วๆไปแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

3.1  การกำหนดราคาขั้นต่ำ  (minimum price control)

การกำหนดราคาขั้นต่ำ รัฐจะเข้ามาแทรกแซงตลาดโดยการประกันราคาหรือพยุงราคาในกรณีที่สิ้นค้า[4]ชนิดนั้นมีแนวโน้มจะต่ำมากหรือต่ำกว่าราคาขั้นต่ำ      การควบคุมราคาขั้นต่ำเป็นมาตรการที่รัฐบาลควบคุมราคาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากการที่ราคาสินค้าที่ผลิตได้ต่ำเกินไปไม่คุ้มทุนที่ลงไป

                ราคาตลาดอยู่ต่ำกว่าราคาประกันหรือราคาขั้นต่ำ  จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ผลิตเพราะขายสินค้าได้น้อยกว่าราคาขั้นต่ำ  โดยหลักการแล้วรัฐสามารถทำได้  2  ทางคือ

          -  เพิ่มอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโดยรัฐอาจลดภาษีสินค้าชนิดนั้นหรือเชิญชวนให้บริโภคสินค้าชนิดนั้นมากขึ้น

          -  ลดอุปทาน  โดยการจำกัดการผลิต  เช่น  การผลิตสินค้าชนิดนั้นลดลงและผลิตสินค้าชนิดอื่นแทน

3.2  การกำหนดราคาขั้นสูง (maximum price control)

การกำหนดราคาขั้นสูง เป็นมาตรการที่รัฐบาลควบคุมราคาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่สินค้าที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตมีราคาสูงขึ้น การควบคุมราคาขั้นสูงรัฐบาลจะกำหนดราคาขายสูงสุดของสินค้านั้นไว้และห้ามผู้ใดขายสินค้าเกินกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนด

เรื่องที่  4  การกำหนดค่าจ้างและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4.1  การกำหนดค่าจ้าง

            [6]ค่าจ้าง  (wage)  หมายถึง  ผลตอบแทนที่แรงงานได้รับจากการยินยอมให้ผู้ผลิตใช้บริการจากแรงงานของตน  ผลตอบแทนที่แรงงานได้รับนี้อาจอยู่ในรูปค่าจ้างต่อชั่วโมง  ต่อวัน  ต่อสัปดาห์  หรืออาจเป็นค่าจ้างเหมาเป็นจำนวนเงินก้อนต่อชิ้นงานก็ได้  อัตราค่าจ้างที่แรงงานได้รับจะแตกต่างกันไปตามประเภทของแรงงาน  จำนวนแรงงานที่มีอยู่และอื่น ๆ เป็นต้น

 

          อัตราค่าจ้างดุลยภาพของแรงงานจะถูกกำหนดจากระดับที่อุปสงค์เท่ากับอุปทานของแรงงาน  ถ้ากำหนดค่าจ้างสูงกว่าดุลยภาพ (w2จะเกิดปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์ของแรงงานหรือเกิดอุปทานแรงงานส่วนเกิน (เกิดการว่างงาน)  ถ้ากำหนดค่าจ้างต่ำกว่าดุลยภาพ (w1จะเกิดปัญหาอุปสงค์มากกว่าอุปทานของแรงงานหรือเกิดอุปสงค์แรงงานส่วนเกิน (ขาดแคลนแรงงาน)

 

4.2  กฎหมายว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

            การออกกฎหมายว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ  เป็นการแทรกแซงกลไกราคาในตลาดแรงงาน  ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐใช้ในการยกระดับอัตราค่าแรงให้สูงกว่าอัตราค่าแรงดุลยภาพ  เมื่อรัฐกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานบางประเภท  ผู้ผลิตจะว่าจ้างแรงงานโดยให้โดยให้อัตราค่าแรงต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่กำหนดขึ้นไม่ได้  รัฐจะกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำเมื่อเห็นว่าค่าแรงดุลยภาพต่ำเกินไปจนทำให้แรงงานเดือดร้อน  โดยปกติรัฐจะกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำโดยคำนึงถึงภาวะค่าครองชีพในขณะนั้นเป็นหลัก  แต่เนื่องจากสภาพความเป็นจริง  ค่าครองชีพในแต่ละท้องถิ่นจะต่างกันไปดังนั้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดขึ้นในถ้องถิ่นต่าง ๆ จึงต่างกันไปด้วย  แต่อัตราค่าแรงขั้นต่ำมักจะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานตามมา



[1] เหมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ข้าวใหม่ปลามัน” 

[2] เกียรติอนันต์  ล้วนแก้ว. เอกสารเรื่อง การทำงานของตลาด. สถาบันพัฒนาการศึกษาเศรษฐศาสตร์  คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

[3] วรัญญา  ภัทรสุข.เศรษฐศาสตร์1(หลักเศรษฐศาสตร์จุลภาค).พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2550.

[4] ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกสินค้าทางการเกษตร

[5] กรณีเช่นนี้มักพบในช่วงสงครามมีการกักตุนสินค้าเพื่อโก่งราคา  ช่วงระบาดของโรคต่าง ๆ หรือเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ

[6] นราทิพย์  ชุติวงศ์.ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค.พิมพ์ครั้งที่เก้า.กรุงเทพฯ : คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2550.

view

 หน้าแรก

 บทความ

 เว็บบอร์ด

 รวมรูปภาพ

 ติดต่อเรา

view